คปภ.ขยาย 2 ปี บริษัทประกัน”ชีวิต-วินาศภัย” ปรับตัวใช้สัญญาประกันสุขภาพใหม่ เริ่มปี 64

คปภ.นัดประชุม “ซีอีโอ” บริษัทประกันชีวิตและวินาศภัยทั้งในและต่างชาติ หารือใช้แบบประกันสุขภาพใหม่ พบภาคธุรกิจยังกังวลหลายเรื่องทั้ง “เงื่อนไขลดหย่อนภาษี-ต้นทุนเบี้ยประกันเพิ่ม” เปิดรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้ เบื้องต้นเคาะขยายเวลา 2 ปี ให้ธุรกิจปรับตัวสื่อสารแก่ลูกค้า ก่อนใช้มาตรฐานสัญญาประกันสุขภาพใหม่เริ่มตั้งแต่ปี 2564

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยในงาน “การประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านกำกับ” ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย และนายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อหารือการปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพและแนวทางการปฏิบัติใช้สัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่ที่มีเงื่อนไขความคุ้มครองที่เป็นธรรม สอดคล้องกับเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเข้ามาทำประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น รองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัย

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันพบว่า ภาคธุรกิจยังมีความกังวลเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขลดหย่อนภาษี รวมถึงการทำให้ต้นทุนเบี้ยประกันเพิ่ม แต่คปภ.ยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้เบี้ยประกันแพงขึ้นและต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยจะเปิดรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้ และจะเริ่มบังคับให้มีการทำมาตรฐานสัญญาประกันสุขภาพใหม่ได้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป โดยมีระยะเวลา 2 ปี ให้ภาคธุรกิจได้เตรียมต้ว

“แม้ยอดการทำประกันสุขภาพของไทยจะเติบโตระดับ 10-15% ต่อปี แต่สัดส่วนการทำประกันภัยสุขภาพของคนไทยยังไม่สูง ซึ่งปัจจุบันคนไทยมียอดกรมธรรม์แค่ 4 ล้านฉบับ และเบี้ยเพียง 88,000 ล้านบาทเท่านั้น” นายสุทธิพลกล่าว

ดังนั้นหากมีการปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพให้มีมาตรฐาน มีความเป็นธรรมจะกระตุ้นให้คนไทยหันมาทำประกันสุขภาพเพิ่ม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันเอง และยังช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐดูแลผู้เจ็บป่วยได้

อย่างไรก็ดี นายสุทธิพล กล่าวว่า ในการประชุมยังได้มีการหารือถึงการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ โดยทุกฝ่ายได้เห็นชอบแนวทางร่วมกัน ซึ่ง จะช่วยเพิ่มศัยกภาพการแข่งขันให้ธุรกิจประกันดีขึ้น และทำให้ขั้นตอนการอนุมัติรวดเร็วขึ้น 1 เท่าตัว เช่น หากขอกรมธรรม์แบบปกติที่ไม่ซับซ้อน เดิมใช้เวลา 30 วัน ลดเหลือ 15 วัน รวมถึงจะมีการจัดช่องทางการยื่นขอรับความเห็นชอบแบบและข้อความและอัตราเบี้ยประกันแยกประเภทที่ชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถออกประกาศเริ่มทยอยใช้ได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้