ครม.ตั้งบอร์ดเร่งรัดเบิกจ่าย-ติดตามมาตรการกระตุ้นศก. สศค.หวังเม็ดเงิน 3.16 แสนล้านดันจีดีพีโตทะลุ 3%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ วันนี้ (20ส.ค.) ได้มีมติเห็นชอบชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง พร้อมกับมีมติเห็นชอบหลักการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมทั้งเร่งรัดติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอในที่ประชุมครม. เศรษฐกิจนัดแรกเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

“วันนี้ครม.มีการเห็นชอบหลักการนี้แล้ว และจะมีการเสนอเข้าไปให้ท่านนายกรัฐมนตรีลงนาม ต้องเรียนว่าที่ผ่านมาเคยตั้งคณะกรรมการรูปแบบนี้แล้ว ซึ่งได้ผลดีมาก โดยกรรมการจะทำหน้าที่เข้าไปทะลุทะลวงให้เงินทั้งหมดลงสู่เศรษฐกิจจริงๆ” นายลวรณกล่าว

โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบลงทุน อยู่ในระดับสูง รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ โดยมีที่ปรึกษาหรือรองอธิบดีที่อธิบดีกรมบัญชีกลางมอบหมาย และที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม โดยจะให้มีการติดตามและหารือประชุมเป็นประจำทุกไตรมาส หรือแล้วแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นสมควร

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านการพิจารณาจากครม.วันนี้นั้น สศค. ประเมินว่ามาตรการทั้งหมดนี้ จะส่งผลให้จีดีพีในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประเมินล่าสุดของกระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณ 3.16 แสนล้านบาท เป็นไปตามคาดหมาย เห็นผลดีทุกประการ เชื่อว่าจะส่งผลให้จีดีพีสูงถึง 0.5% เพราะฉะนั้นถ้าเรามี 3.0 อยู่ตอนนี้ บวกกับมาตรการที่เรากำลังจะขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ คาดว่าตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้นสุดปลายปีนี้ อาจจะไม่ใช่ 3.0% อาจสามารถจะทะยานสู่ 3.5% ได้

ทั้งนี้ สศค. ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 62 สอดคล้องกับการประมาณการของสศช. เสนอไป คือมองว่า ปี 62 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.0 ในช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.8 ถึง 3.2 ชะลอลงจากปีก่อนที่เศรษฐกิจโต 4.1% สาเหตุปัจจัยถูกส่งมาจากต่างประเทศเป็นปัจจัยหลัก ได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเราประเมินใหม่ติดลบ 0.9% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.1 ถึง -0.7) อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA)


สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงจากผลกระทบที่ส่งผ่านจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง โดยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการสวัสดิการต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยส่วนนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8ถึง1.2) ปรับตัวลดลงจากปีก่อนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.1 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.9ถึง6.3 ของGDP)