Data Economy ก้าวสู่ ศก.ยุคใหม่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

ภาพ:sintec.com

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม

Economic Intelligence Center (EIC) ธ.ไทยพาณิชย์

data economy หรือระบบเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เป็นแนวคิดที่นำเอาข้อมูลมาบริหารจัดการและประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้อมูลภาครัฐเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่สามารถนำมาพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในอดีตที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐของไทยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้หลายด้าน เช่น ข้อมูลด้านการศึกษา ด้านการจราจรและขนส่ง ข้อมูลเชิงพื้นที่ และสถิติทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น แต่ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บยังอยู่ในรูปแบบ (format) ที่แตกต่างกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้สำหรับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ และส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้

การเปิดข้อมูลภาครัฐเป็นข้อมูลสาธารณะ (open data) ถือเป็นมาตรการเชิงรุกด้านดิจิทัลของรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกที่ต่างให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น European Commission ได้นำแนวคิด data economy มาใช้โดยเริ่มเปิดข้อมูลของภาครัฐให้ภาคธุรกิจและประชาชนที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศใกล้เคียง ตามข้อตกลงรวม 34 ประเทศได้เข้าถึงข้อมูลของภาครัฐโดยเสรีผ่านแพลตฟอร์มกลางที่มีชื่อว่า European Data Portal อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลกว่า 7 แสนชุดที่รวบรวมอยู่บนแพลตฟอร์ม โดยหลังจาก European Commission ได้เปิดข้อมูลภาครัฐเป็นสาธารณะทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่มากมายทั้งสินค้าและบริการ เช่น บริษัท Ackee ซึ่งเป็นบริษัทด้าน IT ในสาธารณรัฐเช็กได้นำข้อมูลสถิติการเรียกรถพยาบาล, สถิติอาชญากรรมของกรมตำรวจ และความคิดเห็นของประชากร จาก European Data Portal มาวิเคราะห์เพื่อแสดงระดับความปลอดภัยและอาชญากรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงปรากแบบ real time ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือที่ชื่อว่า LuckyMe

สำหรับไทย ข้อมูลภาครัฐที่ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงยังมีสัดส่วนน้อย ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณะถือเป็นก้าวสำคัญที่ผลักดันให้เกิด data economy ที่ผ่านมาข้อมูลภาครัฐมักถูกใช้ประโยชน์ภายในหน่วยงานหรือระหว่างหน่วยงานของรัฐเป็นหลัก อีกทั้งข้อมูลส่วนใหญ่อาจต้องมีการแก้ไขหรือเรียบเรียงก่อนนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในกิจการอื่น ๆ ซึ่งภาครัฐโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดใช้ประโยชน์ข้อมูลภาครัฐเหล่านี้

จึงสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ในวันที่ 3 ตุลาคม 2019 เพี่อกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ และกำหนดแนวทางการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐต่อสาธารณะบนเว็บไซต์ data.go.th ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (open data) ให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนรวมถึงภาคธุรกิจให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันเว็บไซต์ data.go.th อยู่ระหว่างทดลองเปิดใช้งานและมีข้อมูลเบื้องต้นราว 1,300 ชุดข้อมูล ประกอบด้วย ข้อมูลด้านคมนาคม ศิลปะ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม พลังงาน และสาธารณสุข ซึ่งภาครัฐเองมีแผนเร่งดำเนินการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้เป็นรูปธรรมและเปิดใช้เว็บไซต์ data.go.th อย่างเป็นทางการในช่วงปี 2020-2021 เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลที่เปิดเผยนั้นไปต่อยอดก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่และยกระดับการพัฒนาประเทศในอนาคต

อีไอซีประเมินว่า คุณภาพของข้อมูล, การเข้าถึงข้อมูล และความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลเป็น 3 องค์ประกอบที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการใช้ข้อมูลร่วมกันที่เหมาะสมและปลอดภัย (data user-friendly environment) ซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามแนวคิด data economy โดยสภาพแวดล้อมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ข้อมูลที่เหมาะสม
นั้นมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

1) คุณภาพของข้อมูลที่นำมาเปิดเผย ซึ่งนอกจากจะต้องตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานแล้ว ข้อมูลยังต้องมีรูปแบบที่สะดวกพร้อมใช้งาน มีเนื้อหาที่ถูกต้องและถูกปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ

2) การเข้าถึงข้อมูล ต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและกระบวนการไม่ซับซ้อน รวมถึงสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของทางภาครัฐได้ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐของไทยเองได้เปิดช่องทางให้ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ง่ายขึ้นผ่านสื่อดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์กลาง data.go.th หรือเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐนั้น ๆ

และ 3) ความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ โดยภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงข้อมูลอย่างเสรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและเปิดกว้างให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเปิดของทางภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมนี้จะส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน แลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างแพร่หลายและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนานวัตกรรมได้เร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตในการเปิดเผยข้อมูลและแนวทางในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เป็นความท้าทายของภาครัฐที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะและความปลอดภัยจากการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ภาครัฐจัดเก็บบางส่วนยังมีความอ่อนไหว (sensitive data) ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่สามารถนำไปสู่การเชื่อมโยงหรือการระบุตัวบุคคลได้ ได้แก่ ข้อมูลประจำตัวประชาชน ข้อมูลด้านภาษีที่มีความเสี่ยงต่อการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล การจัดระดับความเสี่ยงและความอ่อนไหวของข้อมูลที่มีความอ่อนไหวเหล่านี้ถือเป็นแนวทางเบื้องต้นในการกำหนดขอบเขตการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ โดยข้อมูลที่มีความเสี่ยงและมีระดับความอ่อนไหวสูงยังถือเป็นข้อมูลที่เป็นความลับของราชการไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ แต่ข้อมูลที่มีความเสี่ยงและระดับความอ่อนไหวไม่สูงนักควรนำไปจัดระบบและจัดการความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางคอมพิวเตอร์ก่อนเปิดเผย เช่น การไม่ระบุชื่อในฐานข้อมูลเพื่อไม่ให้เชื่อมโยงถึงตัวบุคคลหรือเปิดเผยข้อมูลเพียงบางส่วน เป็นต้น

ปัจจุบันขอบเขตและประเภทของข้อมูลภาครัฐที่ควรเปิดเผยยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ขณะที่การปกป้องสิทธิข้อมูลและความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลภาครัฐถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐเองให้ความสำคัญและเร่งพิจารณาออกมาตรการในการดำเนินการรักษาความปลอดภัยข้อมูลอย่างเหมาะสมและป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดภายใต้ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลที่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่การตีความบทบัญญัติยังไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ อีกทั้งกฎหมายลูกยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

โดยกระบวนการยืนยันตัวตนของผู้ขอใช้ข้อมูล และการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจุดประสงค์การขอใช้ข้อมูลตามเงื่อนไขที่หน่วยงานเจ้าของข้อมูลกำหนด เพื่อเข้าใช้ข้อมูลของรัฐถือเป็นมาตราการเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการแอบอ้างใช้ข้อมูลและนำข้อมูลที่เปิดเผยไปใช้ในทางที่ผิด

ดังนั้น การเปิดข้อมูลภาครัฐนอกจากต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะแล้วจะต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของข้อมูลที่นำมาเปิดเผยด้วย ซึ่งการหาจุดสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะและความปลอดภัยในการเปิดใช้ข้อมูลนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐควรพิจารณาก่อนไทยจะก้าวเข้าสู่ data economy อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต