ธปท. ชี้ลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้กว่า 1.8 ล้านราย

ธปท.เผยผลการลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ช่วยลดภาระลูกหนี้ได้กว่า 1.8 ล้านราย หรือช่วยลดยอดหนี้กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ชี้เข้าใจแบงก์พาณิชย์ต้องลดดอกเบี้ยเงินฝากประคองรายได้ แต่ยังหวั่นภาคธุรกิจไทยหันไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 2 ครั้งในปี 2562 โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ส.ค.62 ผลการประชุมกนง.ครั้งที่ 5/2562 มีมติ 5:2 เสียงให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% มาอยู่ที่ 1.50% ส่วนครั้งที่สองเมื่อวันที่ 6 พ.ย.62 ผลการประชุมกนง.ครั้งที่ 7/2562 มีมติ 5:2 เสียงให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% มาอยู่ที่ 1.25%

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมาช่วยลดภาระในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ โดบพบว่าธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR MRR และ MOR (M Rate) ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้สามารถช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจและรายย่อยได้มากกว่า 1.8 ล้านราย แบ่งเป็นลูกหนี้ธุรกิจจำนวน 387,591 ราย และลูกหนี้ที่กู้ซื้อบ้าน 1,444,561 ราย

ขณะที่ประมาณการภาระดอกเบี้ยที่ลดลงต่อปีคาดว่าลูกหนี้ธุรกิจจะได้รับประโยชน์ 6,180 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 16,000 บาท/ปี ส่วนลูกหนี้ที่กู้ซื้อบ้านคาดว่าจะได้รับประโยชน์ 6,890 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 6,000 บาท/ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อใหม่ (New Loan Rate) อยู่ที่ 1.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง อยู่ที่ 6.9%

“อัตราดอกเบี้ยกลุ่ม M Rate ของธนาคารมีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลที่ธปท.มอนิเตอร์ไม่ได้ดูแค่อัตราที่แบงก์ประกาศออกมาเท่านั้น แต่จะดูอัตราที่มีใช้จริงด้วย เรียกว่า ‘New Loan Rate’ ซึ่งติดตามจากการกู้รายสัญญาของสินเชื่อธุรกิจ โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีการทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด” นายธาริฑธิ์ กล่าว

ด้านผลกระทบต่อกำไรจองธนาคารพาณิชย์มองว่าอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และมีความสอดคล้องกับโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สิน โดยพบว่ารายได้ของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบทันทีที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาจากรายได้ 2 ส่วนเป็นหลัก ได้แก่ รายได้ส่วนของดอกเบี้ยกลุ่ม M Rate และรายได้ดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่ธนาคารจะสามารถปรับลดลงได้จะมาจากส่วนของเงินฝากประจำ หากไม่ลดเงินฝากประจำลงอาจจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธนาคาต่อไป

“ข้อสังเกตของเราคือ สัดส่วนเงินฝากประจำที่แบงก์สามารถลดลงได้ปัจจุบันมีน้อยกว่าสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ ดังนั้น ธนาคารจึงมีแรงกดดันให้ต้องไปลดดอกเบี้ยในกลุ่มดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็พยายามดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่โดยเริ่มลดดอกเบี้ยออมทรัพย์ของภาคธุรกิจก่อน จึงยังไม่ส่งผลกระทบแก่ประชาชน” นายธาริฑธิ์ กล่าว

นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า การที่ธนาคารมีรายได้ลดลงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารอาจหันไปปล่อยสินเชื่อในพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น และกรณีของสถาบันการเงินในต่างพบว่าธนาคารพาณิชย์หันไปลงทุนหรือปล่อยกู้ให้กับกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งยังไม่พบเห็นกรณีลักษณะนี้ในประเทศไทย ส่วนของผู้ฝากเงินหรือผู้ออม ผู้ที่ฝากประจำในภาคธุรกิจจะมีการดูแลพอร์ตของตนเองค่อนข้างดี และมีการเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนเสมอ ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงไปถึงระดับหนึ่งเป็นไปได้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้จะหันไปลงทุนสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีขึ้น

“ถ้าไปลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลที่กำลังจะออกก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่านี้ก็น่าเป็นห่วง ดังนั้น การลดดอกเบี้ยก็มีทั้งผลดีและเสียที่จะต้องแลกกัน” นายธาริฑธิ์ กล่าว