“กอบศักดิ์” จี้ตลาดหุ้นปิดมุมมืด เคลียร์ปัญหาเจ้ามือปั่นหุ้นเอื้อประชาชนลงทุน

แฟ้มภาพ
“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เผย 4 ความท้าทายตลาดทุน “ดิสรัปชั่น-โอกาสโตในเอเชีย-การพัฒนาสู่ความยั่งยืน-การขจัดมุมมืดในตลาด” จี้ตลาดหุ้นไทยปิดมุมมืด “เจ้ามือหุ้น-นักปั่นหุ้น” เปิดทางนักลงทุนหน้าใหม่อยากเข้าลงทุน ส่วนกรณีการเมืองทำตลาดหุ้นร่วง 20 จุด ชี้เป็นเรื่องปกติที่หุ้นจะผันผวนตอบรับปัจจัยที่เข้ามากระทบ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ “SEC Capital Market Symposium 2019” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า การจะนำพาประะทศไปให้ถึงเป้าหมายเรื่องของการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน การพัฒนาการเติบโตของเศรษฐกิจ และการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ตลาดทุนไทยมีความท้าทาย 4 ด้านที่ต้องเผชิญ ได้แก่ 1) การก้าวเข้าสู่โลกดิสรัปชั่น โดยชี้ว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวมถึงหน่วยงานในตลาดทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต. จำเป็นต้องปรับตัวอ้าแขนดิสรัปชั่นมากขึ้น โดยเฉพาะผู้กำกับดูแล (Regulator) ที่กลัวการเปลี่ยนแปลงและกังวลถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จะต้องไม่ทำให้ความกลัวมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนา

2) การก้าวขึ้นมาของภูมิภาคเอเชียที่ส่งผลให้ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยโอกาส ดังนั้นเป็นโจทย์ของตลาดทุนไทยว่าจะใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น ทำอย่างไรให้บจ.ในตลาดหุ้นไทยกลายเป็นสินทรัพย์ในระดับภูมิภาค รวมถึงการหาพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศอย่างการจับมือกับตลาดหุ้นฮ่องกงเพื่อเปิดช่องทางการจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามตลาด (Cross Listing) เพื่อสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อไปยังตลาดหุ้นจีนต่อไป

3) การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน โดยชี้ว่าการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าตลาดทุนจะมีเครื่องมือต่างๆ เช่น การทำโครงการเพื่อพัฒนาสังคม (CSR) การออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) การทำวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ฯลฯ โดยเฉพาะการทำ CSR ที่บจ.ต่างๆ นิยมทำค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากแต่ละบริษัทแยกกันทำผลที่เกิดขึ้นจึงไม่มีพลังมากนัก ดังนั้น หากทุกบริษัทมาร่วมกันทำ CSR เพียงปีละ 2-3 เรื่องต่อปี เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่า

และ 4) การขจัดความดำมืดในตลาดหุ้นไทย โดยชี้ว่าตลาดหุ้นไทยมีความจำเป็นต้องจัดการในส่วนที่เป็นปัญหา เช่น การมีเจ้ามือหุ้นในตลาด หรือการปั่นหุ้น ฯลฯ หากตลาดหุ้นไม่มีความปลอดภัยจะส่งผลกระทบต่อการเข้ามาของนักลงทุนหน้าใหม่ แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์จะจัดตั้งมานานราว 20-30 ปี อย่างไรก็ตาม จำนวนบัญชีหุ้นทั้งระบบมีเพียง 1.7 ล้านบัญชีเท่านั้น ขณะที่จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในแต่ละเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนบัญชี หรือมีสัดส่วนเพียง 0.5% ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น จะต้องแก้ไขปัญหาให้ตลาดทุนเป็นที่พึ่งของประชาชนมากขึ้น

“พอไม่กำจัดจุดอ่อนหรือมุมมืดในตลาดนักลงทุนหน้าใหม่ก็ไม่อยากเข้ามา ตลาดหุ้นก็เปรียบเสมือนเกาะ หากเกาะมีมุมมืด ไม่มีความปลอดภัย หรือมีมาเฟีย นักท่องเที่ยวก็ไม่อยากเข้ามาท่องเที่ยว แต่ถ้าเกาะมีความปลอดภัยนักท่องเที่ยวก็มีแต่อยากจะเข้ามา ในส่วนของนักลงทุนเองเราก็ต้องสื่อสารให้เขาศึกษาก่อนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เดี๋ยวนี้เรามีนักลงทุนเชิงคุณค่า (VI) เข้ามาช่วยให้ความรู้และศึกษาหุ้นแต่ละตัวในตลาดมากขึ้น” นายกอบศักดิ์ กล่าว

เมื่อสอบถามถึงประเด็นเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ปิดลบลงไป 24.17 จุด นายกอบศักดิ์ ยอมรับว่า ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยเรื่องของการชุมนุมทางการเมืองจริง อย่างไรก็ตาม ชี้ว่าเป็นเรื่องปกติที่ตลาดจะผันผวนตอบรับกับปัจจัยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ซึ่งนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจะต้องเข้าใจและยอมรับความผันผวนที่เกิดขึ้นเป็นปกติ หากปัจจัยการเมืองนิ่งหรือมีความชัดเจนตลาดหุ้นก็พร้อมจะปรับตัวขึ้นไปในทางที่ดีขึ้น แต่หากการเมืองไม่นิ่งตลาดก็จะสะท้อนข่าวลบตอบรับไป

“เมื่อเข้ามาอยู่ในตลาดทุนแล้วก็ต้องขึ้นโรลเลอร์โคสเตอร์ (Roller Coaster) ได้ เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นจะเผชิญความผันผวนอยู่ตลอดเวลา อย่างเมื่อวานที่ดัชนีหุ้นลดลงไปประมาณ 20 จุด ในอดีตการปรับลดลง 40 หรือ 70 จุดก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างในตลาดหุ้นอเมริกาการปรับลดลงเป็นร้อยๆ จุดถือเป็นเรื่องปกติ” นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของปัจจัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นเชื่อว่ามีกลไกทางกฎหมายที่รองรับอยู่แล้ว ดังนั้น กลไกทางกฎหมายก็จะทำงานไปตามปกติ โดยเชื่อว่ามนปี 2563 ปัจจัยการเมืองน่าจะสามารถคลี่คลายได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนในระยะยาวยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น เชื่อว่าหลังการเมืองคลี่คลายตลาดทุนไทยจะสามารถดำเนินต่อไปได้ ในส่วนของภาคเศรษฐกิจไทยก็จะพยายามประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน

“ปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยไม่ได้เปลี่ยน โดยยังมีศักยภาพมีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาวเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาค ทั้งนี้ นอกจากการเร่งเพิ่มบัญชีผู้ลงทุนเราก็อยากให้ตลาดพัฒนาสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย ในส่วนของทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ปัจจุบันชะลอการไหลออกแล้ว แน่ฟันด์โฟลว์ที่ขายสุทธิในช่วงที่ผ่านมาน่าจะส่งผลดีให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ หลังช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแข็งค่าต่อเนื่องจาก 32-33 บาท มาอยู่ที่ 30 บาท” นายกอบศักดิ์ กล่าว

ด้านปัจจัยภายในประเทศเรื่องของงบประมาณปี 2563 ที่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนกังวลนั้น เชื่อว่างบปี 2563 จะผ่านสภาและสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค. และต้นเดือน ก.พ.63 เนื่องจากเสียงของรัฐบาลมีเพียงพอที่จะผ่านเรื่องดังกล่าวได้ และเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นความสำคัญของการผ่านงบประมาณเพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศต่อไปเช่นกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นในปีถัดไป