เฮ! ที่รกร้างรอดภาษียกแผง เปิดช่องปลูกไม้ผล15ต้น/ไร่

คลัง-มท.จ่อเคาะเกณฑ์ พลิกที่รกร้างทำเกษตร หนีภาษีที่ดิน อิงโมเดลขึ้นทะเบียนเกษตรกรปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์-ประมง ต้องปลูกไม้ผล-ไม้ยืนต้น 15 ต้น/ไร่ พืชผัก ไม้ประดับ เลี้ยงสัตว์ปีก แมลงเศรษฐกิจ ผึ้ง จิ้งหรีด เข้าข่าย “เศรษฐี-ตระกูลดัง” เฮลั่นที่ดินรกร้าง 7.4 ล้านไร่ส่อหลุดยกแผง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลัง กับกระทรวงมหาดไทย กำลังเร่งกำหนดเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินทำเกษตรกรรม ให้สอดรับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งล่าสุดได้ยกร่างกฎหมายลำดับรองกำหนดเกณฑ์การทำเกษตรกรรม เพื่อแยกประเภทที่ดินให้มีความชัดเจน ระหว่างที่ดินรกร้างว่างเปล่า กับที่ดินประเภทเกษตรกรรม

บัญชีที่เกษตร 3 ประเภท

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่กำหนดขึ้นจะจำแนกประเภทเกษตรกรรมเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช 2.ด้านการเลี้ยงสัตว์ 3.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือทำการประมง แต่ละประเภทจะจัดทำเป็นบัญชีแนบท้าย

โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำการประมงอย่างชัดเจน เช่น กรณีปลูกกล้วย ต้องปลูกอย่างน้อย 200 ต้น/ไร่ กรณีปลูกน้อยกว่านั้นต้องพิจารณาขนาดแปลงที่ดิน รวมทั้งจำนวนต้นกล้วยที่ปลูก ส่วนที่ไม่เข้าเกณฑ์จะถือเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ มีผลให้ผู้ถือครองที่ดินต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดเป็นที่ดินประเภทรกร้างว่างเปล่า คิดตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ได้แก่ มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3% มูลค่าเกิน 50-200 ล้านบาท 0.4% มูลค่าเกิน 200-1,000 ล้านบาท 0.5% มูลค่าเกิน 1,000-5,000 ล้านบาท 0.6% และเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป 0.7% และเสียเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 3%

คลัง-มท.ชี้ขาดเกณฑ์ที่ดินรกร้าง

จากการหารือกับกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งอ้างอิงระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรระบุว่า การทำการเกษตร หรือประกอบการเกษตร หมายถึง การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ หรือทำการเกษตรอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะนำเกณฑ์เหล่านี้มาพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บางส่วนอาจเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรฯให้คำปรึกษา บางส่วนอาจเป็นเกณฑ์ที่เข้มข้นกว่า หรือที่ผ่อนปรนมากกว่าก็มี สำหรับเกณฑ์ที่จะกำหนดขึ้นนี้จะแล้วเสร็จและประกาศใช้ทันระยะเวลาที่ขยายให้ท้องถิ่นรับชำระภาษี

ปลูกไม้ยืนต้น-ไม้ผล 15 ต้น/ไร่

สำหรับเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรฯใช้ประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเกษตรกร การทำการเกษตร ได้แก่ 1.การทำนาหรือทำไร่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันบนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป 2.การปลูกผัก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพาะเห็ด ปลูกพืชอาหารสัตว์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน เนื้อที่ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป 3.ปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้น หรือการปลูกสวนป่า ปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจำนวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป 4.การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจำนวนต้น 15 ต้นขึ้นไป

เลี้ยงแมลง-จิ้งหรีด-ไส้เดือนได้

5.การเลี้ยงแม่โคนมตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป 6.การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป 7.การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะ อย่างใดอย่างหนึ่งรวมกัน ตั้งแต่ 5 ตัวขึ้นไป 8.การเลี้ยงสัตว์ปีก ตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป 9.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 10.การทำนาเกลือสมุทร บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป

11.การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน 12.การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ อาทิ การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคู ไส้เดือนดิน ฯลฯ 13.การประกอบการเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน นอกเหนือจากเกณฑ์ที่กำหนดตามข้อ 1-12 และมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาท/ปีขึ้นไป

ชี้ยังไม่มีระเบียบกำหนดชัด

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีระเบียบกฎหมายกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมชัดเจนว่า ต้องปลูกพืช ทำปศุสัตว์ ประมง ขนาดเนื้อที่เท่าใด หรือมีจำนวนเท่าใด จึงถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินทำการเกษตร การขึ้นทะเบียนเกษตรกรก็อิงระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ทำให้กระทรวงการคลัง กับกระทรวงมหาดไทย ต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรฯให้ความเห็น โดยยึดหลักวิชาการและสภาพความเป็นจริงประกอบกัน

ที่ต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน เป็นเพราะภาษีที่ดินกำหนดอัตราภาษีทั้งตามมูลค่า และการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่าใช้เพื่อการใด อาทิ ที่ดินเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ หรือปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า เนื่องจากเพดานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทแตกต่างกัน การยกเว้น การบรรเทาภาระภาษีก็แตกต่างกัน

เฮ ! ที่รกร้างส่อรอดภาษียกแผง

โดยเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยระบุข้อมูลที่กรมพัฒนาที่ดินเคยสำรวจรวบรวมไว้ก่อนหน้านี้ว่า ช่วงปี 2549-2550 มี 7.4 ล้านไร่ทั่วประเทศ (รวมทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ที่ลุ่ม เหมืองร้าง) อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเภทอื่น ๆ การปรับสภาพที่ดินรกร้าง สิ่งปลูกสร้างที่ถูกทิ้งร้างมาทำประโยชน์ของเศรษฐี ตระกูลดัง แลนด์ลอร์ดจึงเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองหลักหัวเมืองรองซึ่งมูลค่าทรัพย์สินค่อนข้างสูง ช่วงขยายเวลาให้ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยื่นชำระภาษีกับท้องถิ่น ปรากฏการณ์ดังกล่าวลักษณะนี้ยิ่งมีให้เห็นหนาตา เพราะมีเวลาจำกัดเพียงแค่ 3-4 เดือนก่อนต้องยื่นเสียภาษีจริงและถือเป็นสิทธิ์ที่ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะปรับสภาพที่ดินหรือนำที่ดินที่เคยทิ้งร้างกลับมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะทำการเกษตร ปล่อยเช่า หรือพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ฯลฯ ส่วนจะอยู่ในข่ายเสียภาษีที่ดินฯ ในอัตราที่ต่ำกว่าที่รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพข้อเท็จจริงเป็นราย ๆ ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่เพียงใด