หลักการของการสร้างโมเดลใน IFRS9

คอลัมน์ คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) www.actuarialbiz.com

 

 

 

 

 

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ ที่เรียกว่า IFRS9 มีการปรับปรุงหลักการและวิธีการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงของกิจการมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะบังคับใช้ในปี 2563 นี้แล้ว บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะในไทย (PAEs) ต้องนำ IFRS9 มาใช้ โดยแบ่งเนื้อหาสำคัญออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) การจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน เช่น เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ รวมทั้งเงินลงทุนประเภทต่าง ๆ 2) กำหนดการรับรู้การด้อยค่าใหม่ของสินทรัพย์ทางการเงิน 3) การทำบัญชีป้องกันความเสี่ยง

ดังนั้น IFRS9 จะกระทบทุกธุรกิจ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ จะมีเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน และก็อาจจะมีลูกหนี้ ซึ่งต้องมีการพิจารณาเครดิตของลูกหนี้อยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นธุรกิจสถาบันการเงินก็จะยิ่งมีผลกระทบ เพราะสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ถือไว้ก็จะเป็นการปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ ให้กับลูกค้าเข้าไปด้วย

ผลกระทบที่ว่านี้เกิดจากหลักการที่บริษัทต้องกันเงินสำรองจากการให้กู้ยืมเงินเร็วขึ้น และต้องตั้งประมาณด้อยค่าตั้งแต่วันแรก โดยพิจารณาสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทำสัญญาวันแรกจนสิ้นสุดสัญญา ซึ่งจะแตกต่างกับหลักการในสมัยก่อนที่ให้กันเงินสำรองเมื่อมีข้อบ่งชี้การด้อยค่าเกิดขึ้น

หลักการที่ว่านี้ก็เลยเปลี่ยนจาก การตั้งสำรองปีต่อปี (สัญญาระยะสั้น) เป็นการมองไปข้างหน้าจนสิ้นสุดสัญญา (สัญญาระยะยาว) โดยในเหตุการณ์ข้างหน้านั้น จะมีตัวแปรชื่อว่า probability default (PD) เรียกง่าย ๆ ว่า “ความน่าจะเป็นในการที่ลูกค้าจะเบี้ยวหนี้” ตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติว่าโอกาสที่ลูกค้าจะเบี้ยวหนี้ ในงวดแรก คือ 1% และงวดที่สอง คือ 2% และงวดที่สาม คือ 3% ซึ่งจำนวนหนี้ที่ลูกค้าจะเบี้ยว คือ 1 แสนบาท

ในสมัยก่อน เราก็แค่ตั้งสำรองหนี้สูญ 1% คูณด้วย 100,000 บาท เท่ากับ 1,000 บาท และพอผ่านไปอีก 1 งวด ก็ค่อยมาตั้งสำรองใหม่ งวดที่สองก็ตั้งที่ 2% ซึ่งเท่ากับ 2,000 บาท และถ้าถึงตอนนั้น สภาพหนี้ยังดีอยู่จนอยู่รอดได้ถึงงวดที่สาม การตั้งสำรอง จึงค่อยมาตั้งที่ 3% ซึ่งเท่ากับ 3,000 บาท นี่คือการตั้งสำรองปีต่อปี เรียกได้ว่า สัญญาระยะสั้น ที่เมื่อถึงเวลาค่อยมาตั้ง และมองภาพไปข้างหน้าเพียงงวดเดียว ซึ่งปกติใน 1 งวดก็นิยมให้เป็น 1 ปี หรือไม่มากกว่า 12 เดือน

ส่วนใน IFRS9 นั้น เวลาจะตั้งสำรองหนี้สูญ เพื่อให้รับรู้การด้อยค่าใหม่นั้น จะต้องมองไปข้างหน้าให้ครอบคลุมถึงทุกงวด เช่น ในตัวอย่างนี้ก็จะต้องครอบคลุมไปถึง 3 งวด แต่เวลามองการคำนวณให้นึกภาพที่เราคำนวณผลประโยชน์พนักงาน หรือคำนวณเงินสำรองกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่มองไปข้างหน้าให้ครอบคลุมเงื่อนไขในการจ่ายก่อน แล้วจึงคิดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งเวลาเราหมุนเวลาไปข้างหน้าในแต่ละปี ก็จะต้องคำนวณหาค่าความน่าจะเป็นในการอยู่รอด (survival factor) เข้าไปด้วย เพราะในการประมาณการไปข้างหน้า ถ้าในอนาคตมีงวดไหนที่เป็นหนี้สูญไปแล้ว เราก็ถือว่าสัญญาสิ้นสุดเช่นกัน ซึ่งถ้าใครเคยได้เห็นหลักการในการคำนวณผลประโยชน์พนักงานตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 19 หรือการคำนวณเงินสำรองของกรมธรรม์ประกันชีวิตมาก่อน จะทราบดีว่าลักษณะในการประมาณการกระแสเงินสดไปข้างหน้าเพื่อตั้งเป็นเงินสำรองนั้นทำอย่างไร

ดังนั้นจะเห็นว่า บริษัทจะได้รับผลกระทบทั้งด้านการเงินและผลการดำเนินงาน เพราะต้องตั้งสำรองการด้อยค่าซึ่งอาจจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อาจทำให้ผลกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จของบริษัทลดลง เนื่องจากการที่บริษัทกันสำรองเผื่อการด้อยค่าตั้งแต่วันแรกที่มีการรับรู้การให้เงินกู้ยืม ลงทุน หรือปล่อยเครดิต เป็นต้น ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ก็จะสะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของธุรกิจให้แม่นยำและโปร่งใสขึ้น

เนื่องจากการประมาณการข้างหน้าของ IFRS9 ต้องประเมินไปจนครบกำหนดสัญญาและเกี่ยวข้องกับหลักการนำสถิติมาตั้งสมมติฐานในอนาคต ในการทำโมเดล หรือแบบจำลอง IFRS9 นี้ จะสอดคล้องกับแบบจำลองของคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่เกี่ยวข้องกับหลักการ 2 อย่าง คือ probability (P) และ financial mathematics (FM) ซึ่งทั้ง 2 หลักการ เป็นส่วนประกอบหลักที่ต้องนำมาใช้สร้างแบบจำลอง IFRS9

“แบบจำลองของ IFRS9 ใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ประกันภัย เหมือนการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน” ดังจะเห็นได้ว่า วารสารและสื่อตีพิมพ์ในต่างประเทศได้พูดถึงแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่นำไปใช้กับ IFRS9 กันมาก และโมเดล IFRS9 ที่ใช้กันในไทย ส่วนใหญ่ก็มาจากนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในต่างประเทศที่ออกแบบมาให้ทั้งสิ้น


สรุปว่า การตั้งสำรองของการเสียชีวิต และตั้งสำรองสำหรับจ่ายผลประโยชน์พนักงานที่อยู่จนถึงเกษียณ ก็ไม่ต่างอะไรกับการตั้งสำรองสำหรับความเสียหาย (จ่ายควักเนื้อ) เวลาที่หนี้สูญไปนั่นเอง แบบจำลองหรือโมเดลต่าง ๆ จึงใช้หลักการเดียวกัน โดยสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัย จะต้องนำ forward looking view ที่ประมาณการไปข้างหน้าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคน ชีวิตพนักงาน หรือแม้แต่ชีวิตของหนี้นั่นเอง