โฟกัส 2 ปัจจัยความเสี่ยง ที่ต้องระวังในทศวรรษ 2020

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เรากำลังเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยจะอยู่ต่ำสุดในรอบ 5,000 ปี ฟองสบู่สินทรัพย์ทางการเงินใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ต้องเผชิญกับสภาวะของการหยุดชะงักที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (disruption) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแรงงานต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังรุนแรงขึ้น

ปัจจัยหลายประการดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ว่าทศวรรษ 2020 จะเผชิญกับสิ่งท้าทายครั้งสำคัญ ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งมีความกังวลอย่างน้อย 2 ประการที่น่าเป็นห่วงสำหรับทศวรรษนี้ คือ กระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) กำลังจะมาถึงจุดวกกลับ และความเสี่ยงของฟองสบู่ในสินทรัพย์

กระแสโลกาภิวัตน์นั้น นับเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โดยเฉพาะจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ที่กระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนา (เพราะต้นทุนแรงงานถูกกว่า) การส่งต่อของเทคโนโลยีและการสื่อสารต่าง ๆ ทำให้กระจายความเจริญและประโยชน์ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญ (ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง) โดยเฉพาะจีน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ โดยตำหนิว่าทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น แรงงานในประเทศถูกกระทบจากแรงงานต่างชาติ และบริษัทใหญ่ ๆ ได้ประโยชน์จากการหลบเลี่ยงภาษี เป็นต้น

จนปัจจุบันเกิดกระแสชาตินิยมเพิ่มขึ้น และจะเห็นว่ารัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วเริ่มใช้นโยบายกีดกันการค้า การลงทุน และกีดกันแรงงานต่างชาติ เช่น กรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน สหรัฐกับยุโรป สหรัฐกับเม็กซิโก และเกาหลีกับญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มการต่อต้านโลกาภิวัตน์น่าจะเพิ่มมากขึ้นในทศวรรษ 2020

และหากเป็นเช่นนั้น สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ประเทศต่าง ๆ จะดำเนินนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ เพิ่มการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา และคงจะมีการดำเนินนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น (ทั้งนโยบายด้านภาษีและด้านอื่น ๆ)

นอกจากนี้ การพัฒนาทางเทคโนโลยีจะทำให้อุตสาหกรรมหลายอุตสาหกรรมหันมาใช้เครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงาน ทำให้ความได้เปรียบของประเทศที่มีแรงงานถูกหมดไป ดังนั้น เราน่าจะเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศกำลังพัฒนากลับไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

ตัวอย่างของความเสื่อมถอยของโลกาภิวัตน์ที่สำคัญ คือ กลยุทธ์ “Made in China 2025” โดยตั้งเป้าที่จะลดการพึ่งพาต่างประเทศ และหันมาผลิตภายในประเทศมากขึ้น เช่น จะผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือภายในประเทศให้ได้ 40% ของปริมาณความต้องการ จะผลิตหุ่นยนต์ในประเทศ 70% และผลิต 80% ของพลังงานทดแทนในประเทศ

เช่นเดียวกับสหรัฐที่มีนโยบาย “America first” ซึ่งเป็นนโยบายที่จะดึงการลงทุน และการจ้างงานกับสหรัฐเช่นกัน ดังนั้น เราน่าจะเห็นการลงทุนเพื่อสร้างเครือข่ายของกระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ข่ายใหญ่ ๆ คือ จีน และสหรัฐ

แนวโน้มดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม เพราะแทนที่จะทำการค้า และให้มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตอย่างเสรี กลับสร้างอุปสรรค (ภาษี หรือกฎระเบียบ) ทางการค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และน่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่องได้

ในส่วนของฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์นั้น นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ธนาคารกลางได้ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงเงินเฟ้อให้เข้าสู่เป้าหมาย โดยใช้นโยบายพิมพ์เงินมาซื้อพันธบัตร การควบคุมดอกเบี้ยระยะยาว ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ และการเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน ซึ่งล้มเหลว

เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ (สหรัฐโตเฉลี่ยเพียง 2% ญี่ปุ่น และยุโรปโตเพียง 1%) และเงินเฟ้อก็ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง

ดอกเบี้ยที่ต่ำยาวนานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นประโยชน์ต่อราคาสินทรัพย์ (ราคาหุ้น และพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น) แต่ไม่กระตุ้นให้เกิดการลงทุน ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนกลับออมเงินมากขึ้น และสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ ภาคเศรษฐกิจจริง และแรงงานไม่ได้รับประโยชน์ คนที่ได้ประโยชน์ คือ นายทุน โดยมูลค่าพันธบัตรและหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 100% ขณะที่ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพียง 25% ทำให้ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น

ในทศวรรษ 2020 ธนาคารกลางจะเผชิญกับความท้าท้ายในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะเริ่มมีแนวคิดว่าดอกเบี้ยต่ำยาวนาน ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว แต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน (แนวคิดเดียวกับแบงก์ชาติไทย) โดยเริ่มมีการถกเถียงมากขึ้นในยุโรป

ทำให้มีแนวโน้มว่ายุคของดอกเบี้ยต่ำอาจจบลงในทศวรรษนี้ และหากเป็นเช่นนั้นความเสี่ยงที่สำคัญ คือ ฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดพันธบัตร

ทั้งนี้ แบงก์ออฟอเมริกามองว่า หากธนาคารกลางดำเนินนโยบายผิดพลาด จนทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้ตลาดการเงินเกิดความตระหนก และมีการเทขายสินทรัพย์ทางการเงิน โดยเฉพาะพันธบัตร ทำให้ตลาดเงินเกิดความผันผวน จึงเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องระวังในทศวรรษนี้