ธปท.ยกเครื่อง “ค่าฟีแบงก์” ปฏิบัติการยืนข้าง “ผู้บริโภค”

ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปี 2563 เป็นปีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ลุกขึ้นมากำกับดูแลสถาบันการเงินเข้มข้นตั้งแต่ต้นปี โดยประกาศรื้อโครงสร้างค่าธรรมเนียม 3 รายการ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

“ธัญญนิตย์ นิยมการ” ผู้ช่วยผู้ว่าการ (คนใหม่) สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. ซึ่งรับผิดชอบงานกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (nonbank) ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรมเข้ามาเริ่มต้นด้วยภารกิจใหญ่การ “ยกเครื่อง” โมเดลการคิดค่าธรรมเนียมแบงก์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงที่มาที่ไป ตลอดจนหลักคิดในนโยบาย รวมถึงแผนปฏิบัติการในระยะต่อไป

ยกเครื่องโมเดล “ค่าฟีแบงก์”

ผู้ช่วยผู้ว่าการอธิบายถึงแนวคิดของ ธปท.ว่า ต้องการให้ของขวัญประชาชนเรื่องการให้บริการทางการเงินที่เป็นธรรม การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม มีเรื่องเยอะมาก โดยหลักที่จับคือ เราดูตามปัญหาของลูกค้า (pain point) เป็นสำคัญ โดยดูข้อมูลจากที่ร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) 1213 รวมถึงในโซเชียลมีเดีย เป็นฝ่ายงานใหม่ดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2559 ช่วงแรก ๆ ก็เริ่มจากการขายประกันผ่านแบงก์ ปัจจุบันเรื่องร้องเรียนพวกนี้ก็น้อยไป

และเรื่อง “ค่าธรรมเนียม” ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ ธปท.กำลังทำ ค่าธรรมเนียมของแบงก์มีเป็น 100 รายการ แต่จากสถิติพบว่า 3 เรื่องหลัก ๆ ที่มีคนร้องเรียนมาก ที่กระทบประชาชนเยอะ ๆซึ่งก็นำไปสู่การปรับปรุงโมเดลการคิดค่าธรรมเนียมใหม่ 3 รายการ คือ 1.ค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด (prepayment charge) ซึ่งจะครอบคลุมสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยจากเดิมจะคิดค่าธรรมเนียมจากยอดวงเงินกู้ทั้งก้อน มาเป็นให้คำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือ และให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาที่จะไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดด้วย

“ยกตัวอย่าง เอสเอ็มอีกู้แบงก์มา 10 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อน 10 ปี แต่พอเข้าปีที่ 3 เหลือเงินต้น 7 ล้านบาท แต่ลูกค้ากิจการดีต้องการนำเงินมาใช้คืนก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้ธนาคารสูญเสียประโยชน์จากการที่ล็อกวงเงินไว้ให้ ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ส่วนใหญ่จะคิดค่าปรับบนยอดวงเงินกู้ คือ10 ล้านบาท ซึ่งมีบางแบงก์ก็คิดจากยอดคงค้าง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำ ซึ่ง ธปท.ก็บอกหลักการไปว่า ที่ถูกควรคิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ”

เปลี่ยนฐานคิด “ดอกเบี้ยผิดนัด”

“ธัญญนิตย์” กล่าวว่า สำหรับค่าธรรมเนียมตัวที่ 2 ที่มีปรับเกณฑ์ก็คือ “ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ” ถือว่าเป็นตัวที่มีอิมแพ็กต์ค่อนข้างมาก ทั้งสำหรับสถาบันการเงินและลูกค้า โดยเกณฑ์นี้จะครอบคลุมทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อส่วนบุคคล เกณฑ์ใหม่คือเปลี่ยนจากเดิมที่คิดดอกเบี้ยผิดนัดจาก “ยอดเงินต้นคงเหลือ” ทั้งหมด มาเป็นคำนวณจาก “ยอดเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัด” เป็นการคิดตามหลักการที่เป็นธรรมกับลูกค้า เพราะการผิดนัดในส่วนค่างวดที่เกิดขึ้น และเป็นการคำนึงถึงความสามารถของลูกหนี้ ลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้

“ถ้าลูกค้าผิดนัด 1 งวด แบงก์ควรจะคิดค่าปรับบนค่างวด ไม่ใช่คิดจากยอดคงค้างทั้งหมด จึงเป็นที่มาให้เปลี่ยนฐาน ซึ่งปกติแบงก์จะคิดดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดที่ 15-18% ในส่วนนี้ ธปท.จะไม่ยุ่ง แต่ขอให้ปรับฐานจากเดิมที่คิดบนฐานก้อนใหญ่ ให้มาคิดบนค่างวด (เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้น) นอกจากนี้ก็มีเรื่อง grace period (ระยะเวลาผ่อนปรน) กรณีลูกค้ามีเหตุจำเป็นช้าไป 5-10 วัน แบงก์ก็ต้องพิจารณา ไม่คิดเบี้ยปรับด้วย”

และ 3.ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประชาชนใช้จำนวนมาก เดิมเมื่อยกเลิกการใช้บัตร ธนาคารจะไม่คืนเงินส่วนต่างของค่าธรรมเนียมรายปีให้ลูกค้า หรือคืนเมื่อมีการร้องขอ แต่เกณฑ์ใหม่หากลูกค้าจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีไปแล้ว แต่ใช้บริการเพียง 3 เดือน

เมื่อยกเลิกการใช้บัตร ธนาคารต้องดำเนินการคืนค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือทันที โดยลูกค้าไม่ต้องร้องขอ และในส่วนของการออกบัตรใหม่และรหัสทดแทน เดิมธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ก็ไม่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ยกเว้นมีต้นทุนสูง สามารถเรียกเก็บได้ตามเหมาะสม

ต้อนแบงก์รัฐเข้าเกณฑ์

“ธัญญนิตย์” ยอมรับว่า การปรับปรุงเกณฑ์คิดค่าธรรมเนียมอาจกระทบกับแบงก์บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการ และเนื่องจากการปรับปรุงเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทางธนาคารจะต้องมีการปรับปรุงระบบไอทีหลังบ้านด้วย ดังนั้น ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการหารือกับทางสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้เวลากับธนาคารในการปรับตัว

ขณะที่ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐก็จะต้องเข้าสู่เกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมใหม่นี้ด้วยเช่นกัน ซึ่ง ธปท.จะมีประกาศหนังสือเวียนให้แบงก์รัฐต้องปฏิบัติตามเกณฑ์คิดค่าธรรมเนียมมาตรฐานเดียวกับแบงก์พาณิชย์ เนื่องจากมีแบงก์รัฐ 2-3 แห่งที่มีการให้สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล

คุมค่าฟีทั้งระบบ-ออกไกด์ไลน์กลางปี

“ธัญญนิตย์” กล่าวว่า การปรับปรุงค่าธรรมเนียม 3 รายการนั้น เป็นเพียงการนำร่องเพื่อส่งสัญญาณให้แบงก์ปรับตัว ซึ่ง ธปท.มีนโยบายที่จะดำเนินการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมทั้งระบบต่อไป ซึ่งปัจจุบันแบงก์มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอยู่กว่า 100 รายการ โดย ธปท.จะไม่ไปออกเกณฑ์คุมย่อย ๆ แต่จะให้แบงก์นำหลักการ 4 ข้อ ไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ

หลักการข้อแรก คือ จะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 2.จะต้องไม่เป็นภาระเกินสมควรกับผู้ใช้บริการ โดยคำนึงความสามารถการชำระของผู้ใช้บริการ 3.จะต้องไม่เป็นการเก็บซ้ำซ้อน และสุดท้าย จะเก็บค่าธรรมเนียมอะไรก็ตาม จะต้องมีการแจกแจงรายละเอียด เปิดเผยให้ประชาชนรับรู้อย่างชัดเจน

โดยจะมีการออกไกด์ไลน์ คล้ายกับเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้แบงก์ปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดให้สถาบันการเงินทุกแห่งทยอยเปิดเผยค่าธรรมเนียมบนเว็บไซต์ เพื่อความโปร่งใส และเป็นประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ทั้งสามารถเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของผู้ให้บริการทุกรายบนเว็บไซต์ของแบงก์ชาติด้วย

“มองว่าจะเป็น market force และลดการฮั้วในการคิดค่าธรรมเนียมของแบงก์ได้ รวมถึงมีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะเมื่อมีการเปิดเผยบนเว็บไซต์ แบงก์ก็จะเหลือบมองกันว่า ใครคิดถูก คิดแพง และมาพิจารณาของตัวเอง”

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า หลังมีเกณฑ์ออกไปแล้ว ธปท.จะมีการออกไปสุ่มตรวจช่วงปลายปีว่า แบงก์ได้นำ 4 หลักการมาใช้หรือไม่ สะท้อนต้นทุนจริงหรือไม่ โดยบทลงโทษอาจจะมีทั้งการตักเตือน และลงโทษที่เป็นการเปรียบเทียบปรับ หากไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งจะมีการเปิดเผยการกล่าวโทษด้วย

ผู้บริโภคต้องรู้สิทธิของตัวเอง

“ธัญญนิตย์” กล่าวด้วยว่า การออกหลักเกณฑ์ปรับปรุงค่าธรรมเนียมนั้นจะต้องมอง 2 ข้าง ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะผู้ให้บริการหลากหลายมากขึ้น จึงต้องสร้างความเป็นธรรม และปกป้องผู้ใช้บริการ ซึ่งบางประเทศผู้กำกับดูแลไม่ต้องทำอะไร เพราะผู้ใช้บริการเข้มแข็ง และรู้สิทธิที่ตัวเองมี โดยผู้บริโภคต้องรู้ 4 สิทธิของตัวเอง เพื่อปกป้องตัวเองด้วย คือ 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลถูกต้องครบถ้วน 2.สิทธิที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการอย่างอิสระ 3.สิทธิที่จะร้องเรียนความเป็นธรรม และ 4.สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหากไม่ได้รับความเป็นธรรม


“การได้รับบริการทางการเงินที่เป็นธรรม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้นขอให้ประชาชนรักษาสิทธิของตนทุกครั้งที่ไปใช้บริการทางการเงิน ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการก็ต้องไม่หลอก ไม่บังคับ ไม่รบกวน และไม่เอาเปรียบ ดังนั้น หากประชาชนได้รับบริการที่ไม่เป็นธรรม สามารถร้องเรียนที่ผู้ให้บริการโดยตรง แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องเหมาะสม ก็สามารถแจ้งมาได้ที่ 1213” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ย้ำในตอนท้าย