ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยก่อนการประชุม

ค่าเงินบาท เงินบาท ตลาดหุ้น
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 4 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/3) ที่ระดับ 31.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (3/3) ที่ระดับ 31.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉินนอกตารางการประชุมซึ่งกำลังจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม

ธนาคารกลางสหรัฐได้เปิดเผยรายงานประกอบว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่กรอบร้อยละ 1.00-1.25 พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า แม้ว่าปัจจุบันปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทางธนาคารเล็งเห็นถึงความเสี่ยงขาลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการจ้างงานให้อยู่ในจุดสูงสุดและรักษาเสถียรภาพของราคา คณะกรรมการการเงินมีความเห็นว่าควรมีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้กล่าวเสริมว่า ความรุนแรงและระยะเวลาที่ COVID-19 มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐนั้นมีความไม่แน่นอนสูงและอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ทางธนาคารจึงเห็นว่าควรเข้ามาจัดการทันที และจากนี้ไปทางธนาคารจะจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป โดยเครื่องมือทางนโยบายที่น่าจะถูกนำมาใช้ยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่จะใช้การซื้อขายสินทรัพย์ของธนาคารกลางหรือการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐจะมีประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กลุ่มประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจโลก 7 ประเทศ (G7) ได้จัดการประชุมทางโทรศัพท์ร่วมกันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐคือนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐและนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด พร้อมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส แคนาดา และสหราชอาณาจักร เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19 ร่วมกัน

ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวมีรายงานออกมาว่าธนาคารกลางของทุกประเทศพร้อมใช้เครื่องมือทางนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และยังระบุถึงความร่วมมือจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) อีกด้วย นอกจากนั้นนายสตีเวน มนูชิน ได้ตอบคำถามประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนว่า สหรัฐยังไม่มีนโยบายพิจารณาลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำหรับปัจจัยภายในประทศ ตลาดจับตามองว่าหลังจากการเดินทางกลับมาประเทศไทยของกลุ่มแรงงานไทยที่ไปค้าแรงงานที่ประเทศเกาหลีใต้นั้นจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นหรือไม่ และจะส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดของระยะที่ 3 หรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.33-31.41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (4/3) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1171/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (3/3) ที่ระดับ 1.1131/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้เปิดเผยดัชนีอัตราการว่างงานเดือนมกราคมออกมาทรงตัว และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 12 มีนาคม 2563 โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1156-1.1173 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1156/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (4/3) เปิดตลาดที่ระดับ 107.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (3/3) ที่ระดับ 107.93/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) ประกาศเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 เดิมที่ร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 3.4 ซึ่งถ้าเทียบกับกรอบที่เคยประมาณการไว้ที่ร้อยละ 2-4 ถือว่าขยับขึ้นมาใกล้กรอบบนมากขึ้น ทำให้ตลาดยังคงความกังวลแม้ธนาคารกลางจะประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.27-107.42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.38/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคบริการของสหรัฐ โดย ISM เดือนกุมภาพันธ์ (4/3), การจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ โดย ADP เดือนกุมภาพันธ์ (4/3), ดัชนีภาคบริการของจีนเดือนกุมภาพันธ์ (4/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกุมภาพันธ์ (5/3), จำนวนการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (6/3), อัตราการว่างงานของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (6/3), ดุลการค้าของสหรัฐ เดือนมกราคม (6/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.90/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.25/+1.75 สตางค์-ดอลลาร์สหรัฐ