“อุตตม” เล็งแจกเงินรายเดือน 3 กลุ่ม คนละ 2 พันบาท บรรเทาผลกระทบโควิดไวรัส-19

อุตตม เล็งชงมาตรากรชุดใหญ่ เสนอครม.เศรษฐกิจ 6 มี.ค.นี้ ชี้มีโอนเงินเข้าพร้อมเพย์ให้ผู้มีรายได้น้อย-เกษตรกร-อาชีพอิสระ เล็งคืนชีพ LTF ช่วยเหลือตลาดทุน ทั้งหนุนผู้ประกอบการ ออกสินเชื่อ-จัดซอฟท์โลน พร้อมลดภาษีจูงใจผู้ประกอบการเลิกจ้างงาน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เตรียมชุดมาตรการ “ดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 1” เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ในวันที่ 6 มี.ค.63 และจะนำเรียนเข้าสู่ครม. เพื่ออนุมัติชุดมาตรการในวันที่ 10 มี.ค. ต่อไป ซึ่งชุดมาตรการดังกล่าวใช้งบประมาณมากกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดูแลประชาชนอย่างครอบคลุม ตรงจุด ซึ่งจะเป็นชุดเน้นมาตรการที่สามารถทำได้ทันที และเป็นชุดมาตรการชั่วคราว เล็งให้เกิดผลในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดูแลสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะเป็นกลไกช่วยเหลือแบบมีเงินทุนดูแลด้วยการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยจะมีการเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพื่อตรวจสอบสิทธิเหมือนกับโครงการที่เคยมีมา อย่างเช่น โครงการชิมช้อปใช้ อย่างไรก็ดี โครงการนี้ไม่ได้มีเงื่อนไขซับซ้อน หากผ่านการตรวจสอบสิทธิแล้วก็สามารถใช้จ่ายได้เลย ไม่มีเงื่อนไขกำหนด และคาดว่าจะเป็นการโอนเงินให้แบบรายเดือน ส่วนวงเงินที่จะโอนเข้าระบบอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมที่ จำนวน 1,000-2,000 บาท ด้านจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการนั้นมีมากกว่าจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการ ที่มีอยู่ 14 ล้านคนแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะใช้งบประมาณในจำนวนที่เหมาะสมกับสถานการณ์

“หากชุดมาตรการผ่านครม.แล้ว จะสามารถเริ่มขบวนการปฏิบัติการได้ทันที ไม่ชักช้า เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีประสบการณ์แล้ว เบื้องต้น ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลัง ตั้งคณะทำงานมาดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ หากมีความจำเป็นที่จะใช้บุคคลากรเพิ่ม เช่น กรมบัญชีกลางที่จะมีบทบาทในการทำงานมากขึ้น หากใช้บุคลากรจำนวนมาก ก็จะมีการจ้างงานเพิ่ม” นายอุตตม กล่าว

ส่วนในด้านตลาดทุน จะมีมาตรการช่วยเหลือเช่นกัน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เข้าไปหารือร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO), ตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเรื่องการปรับรูปแบบกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้มีลักษณะใกล้เคียงกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้ตลาดทุนได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย อย่างไรก็ดี อาจจะเป็นการนำกลับมาใช้ชั่วคราว ซึ่งขณะนี้สศค.และกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง

ขณะที่ในกลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งรายเล็กและรายกลาง ซึ่งจะดูแลครอบคลุมทั้งภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม โดยจะมีการออกสินเชื่อที่สอดคล้องกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่อนปรนการสำรองหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่จะให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ และให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของตนเองต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาอัตราดอกเบี้ย ส่วนวงเงินที่จะใช้คาดว่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวจะมาจากกระทรวงการคลังไม่ได้ร่วมกับกับธปท.

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยดูแลพนักงานโดยไม่ให้ผู้ประกอบการเลิกจ้างงาน จะจูงใจด้วยภาษี ซึ่งจะเป็นลักษณะการนำค่าใช้จ่ายจากการจ้างงานมาหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 1 เท่า และจะมีการพิจารณาภาษีรูปแบบอื่นด้วย เช่น ภาษีนิติบุคคล ซึ่งจะพิจารณาในรูปแบบหัก ณ ที่จ่ายน้อยลง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลังไปพิจารณาค่าธรรมเนียมต่างๆ ด้วย อาทิ ค่าธรรมเนียมจากการเก็บค่าเช่าของกรมธนารักษ์ ให้ผ่อนปรนค่าธรรมเนียมในระยะเวลาชั่วคราว เป็นต้น ส่วนภาษีสรรพสามิตและการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% ยังไม่ได้อยู่ในแผนมาตรการชุดดังกล่าว

“ชุดมาตรการดังกล่าว ได้มีการพิจารณาอย่างรอบครอบ กระทรวงการคลังไม่ได้คิดเพียงฝ่ายเดียว ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, หอการค้า, สมาคมธนาคารไทย, และรวมถึงธปท. ด้วย ฉะนั้น มาตรการดังกล่าวจะสามารถดูแลสถานการณ์ในภาวะที่ไม่ปกติได้ แต่ก็เน้นย้ำว่า ยังอยู่ในวินัยการเงินการคลัง 100%” นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้ กรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เบื้องต้น มองว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ประเทศไทยนั้น ธปท.ก็ได้มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นอำนาจที่ธปท.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหมือนกับเฟดหรือไม่ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังก็ได้มีการหารือร่วมกับธปท.อย่างใกล้ชิด