ประเมินวิกฤตโควิด-19 SMEs ต้องปรับตัวอย่างไร ?

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย TMB Analytics

อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า SMEs ของไทย ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป การลดลงของกิจกรรมภายนอกบ้านจากความวิตกกังวลของผู้บริโภค ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการ SMEs หายไป จนบางรายถึงขั้นต้องปิดการดำเนินกิจการชั่วคราว เพราะไม่แน่ใจสถานการณ์โควิด-19 จะใช้เวลายืดเยื้อออกไปเท่าไหร่

สำหรับข้อมูลผลกระทบของการระบาดของโรคนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้ประเมินไว้ว่า โควิด-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2020 ลดลงเหลือเพียงราว 18 ล้านคน หรือลดลง 54.6 เปอร์เซ็นต์ YOY และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทย โดย TMB Analytics ปรับลดคาดการณ์ GDP จาก 2.7 เปอร์เซ็นต์ เหลือ -0.8 เปอร์เซ็นต์ YOY ในปี 2020 โดยมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4

ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่ได้เพิ่งเจอกับวิกฤตเป็นครั้งแรก ในกรณีของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย พวกเขาเผชิญหน้ามาแล้วทั้งการถูก disrupt จากระบบการจองห้องพักที่คนเปลี่ยนไปจองผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ และเลือกเข้าพักตามเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมให้เช่าแทนโรงแรมมากขึ้น ถ้าจะพูดถึงวิกฤตที่เกี่ยวกับไวรัส ภาคธุรกิจก็เคยได้รับผลกระทบจากโรค SARS หรือ MERS มาก่อนแล้ว ดังนั้น แม้โควิด-19 จะเป็นวิกฤตที่รุนแรง ภาคธุรกิจก็จำเป็นต้องผลักดันใช้ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสให้ได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ 1.การหารายได้ทดแทนโดยการปรับรูปแบบธุรกิจ หรือการหาตลาดและช่องทางการขายใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งที่จำเป็นความอยู่รอดของธุรกิจในระยะสั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตขึ้นในระยะยาวอีกด้วย และ 2.การวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการเงินของตัวธุรกิจ

1.เพิ่มรายได้ : มองช่องทางขายออนไลน์ หรือต่อยอดรูปแบบธุรกิจอื่น ๆ เพื่อเพิ่มช่องทาง และโอกาสในการขาย

ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น มี 2 สิ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนไป นั่นคือ ผู้คนยังคงมีความต้องการบริโภค และความต้องการในการหารายได้ ดังนั้นอุปสงค์ของสินค้าอุปโภคและบริโภคในตลาดยังคงมีอยู่ แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปจากเดิม ในวิกฤตที่คนไม่ยอมออกจากบ้านเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า ช่องทางออนไลน์จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับพวกเขาในการซื้อสินค้าและบริการที่พวกเขาต้องการ ดังนั้น SMEs จึงควรมองหาทุก ๆ แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าออนไลน์ และใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือ marketplace

นอกจากนี้ เมื่อการออกมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคนอกบ้านถือเป็นความเสี่ยง การนำเสนอสินค้าแบบ take away หรือการส่งสินค้าตรงไปถึงบ้านของลูกค้า (home delivery) จึงเป็นโอกาสที่ SMEs สามารถเพิ่มยอดขายได้

ในช่วงที่ผ่านมามีธุรกิจหลายรูปแบบที่สามารถปรับตัวและพลิกฟื้นจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ ธุรกิจร้านอาหารหลายรายได้ใช้โอกาสนี้ในการทำการตลาดออนไลน์ ใช้ทรัพยากรของร้านที่ยังมีอยู่ในการสร้างรายได้ เปลี่ยนเมนูที่ใช้วัตถุดิบหายากหรือมีโอกาสเสียง่าย ให้เป็นวัตถุดิบที่หาง่ายขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการทำ stock เปลี่ยนพนักงานเสิร์ฟเป็นพนักงานส่งอาหาร และผันตัวเองมาให้บริการแบบ take away หรือส่งอาหารตรงถึงบ้าน ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศเกาหลีใต้ เปลี่ยนการให้บริการโดยการเช่าลานจอดรถกว้างและให้บริการฉายภาพยนตร์จอยักษ์แบบ drive through หรือธุรกิจการไหว้เคารพสุสานบรรพบุรุษของจีน หรือเช็งเม้ง ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการได้ โดยการรับจัดหาอาหาร และ live การไหว้บรรพบุรุษให้กับลูกค้าที่ไม่สามารถเดินทางมาด้วยตนเอง

นอกจากนี้ hyperlocal marketing หรือการทำการตลาดแบบเจาะพื้นที่ อาจเป็นทางเลือกสำหรับธุรกิจที่อยู่ในระดับท้องถิ่นที่มีหน้าร้าน และสามารถให้บริการหรือส่งสินค้าถึงบ้านผู้บริโภคได้ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านทำผม สามารถค้นหาร้านใกล้ตัวจาก search engine ด้วย keyword ว่า “ร้านอาหารใกล้ฉัน” ก็ช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถปิดการขายได้ง่ายขึ้น

สิ่งสำคัญที่จะทำให้การขายสินค้าออนไลน์ประสบความสำเร็จได้ นอกจากการมองหาลูกค้าใหม่ ๆ คือ การพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ให้ได้ เพราะพวกเขาคือคนที่กลับมาซื้อสินค้าของคุณ การสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเก่า และมอบสิทธิพิเศษให้กับพวกเขา จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ฐานลูกค้าของเราเหนียวแน่น และเพิ่มโอกาสในการพลิกฟื้นเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป

2.ลดรายจ่าย : วิเคราะห์และปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

หากเปรียบธุรกิจเป็นร่างกายของเรา รายจ่ายที่ไม่จำเป็นก็เปรียบเสมือนแผลที่เลือดไหลไม่หยุด หากเราไม่ได้ สมานแผลเหล่านี้ ความเจ็บปวดก็จะคงดำเนินต่อไป และธุรกิจก็อาจไม่รอดจนพ้นจากวิกฤตนี้ได้ การนำบัญชีรายรับและรายจ่ายมาวิเคราะห์ เพื่อหาว่ารายจ่ายตรงจุดไหนที่สามารถตัดออก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยประเภทต่าง ๆ หรือรายจ่ายที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ในบางครั้งการพูดคุยกับพนักงานโดยตรงเพื่อร่วมกันหาทางออกจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ การช่วยกันลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นกันคนละไม้ละมือ เป็นสิ่งที่สร้างโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าและรอดพ้นจากวิกฤตนี้ได้

ด้วย 2 แนวทางที่ได้กล่าวไปแล้ว จะสามารถนำมาให้สอดคล้องกับสภาวะความต้องการในตลาดที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในห้วงเวลาวิกฤตที่เราคาดว่าอาจจะใช้เวลาในการฟื้นตัวมากกว่า 6 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ SMEs ต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้มีเพียงพอต่อการเอาชนะวิกฤตโควิด-19