ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยันไม่ปิดทำการซื้อขาย แม้รัฐประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง

ย้ำกรณีเดียวที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปิดทำการซื้อขายจะต้องมาจากการปิดระบบของธนาคารพาณิชย์ ชี้ในกรณีรัฐประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ตลาดพร้อมปรับวิธีการทำงานเพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ต่อเนื่อง ประเมินมาตรการแบงก์ชาติตั้งกองทุน BSF เป็นผลดีช่วยเสริมสภาพคล่องบริษัทจดทะเบียน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีการปิดทำการซื้อขาย แม้ในกรณีที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง โดยย้ำว่าเหตุผลเดียวที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปิดการซื้อขาย คือ ระบบธนาคารพาณิชย์หยุดทำการ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินอย่างการโอนเงินได้ และในกรณีที่รัฐบาลขยายเวลาเคอร์ฟิว ตลท.พร้อมปรับการทำงานเพื่อให้ตลาดทุนสามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น การปรับเวลาการซื้อขาย เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุน เช่น สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธุรกิจคัสโตเดียน (custodian) ฯลฯ ถึงวิธีการดำเนินงานท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งที่ผ่านมาได้ออกมาตรการช่วยเหลือมูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท เช่น การลดค่าจดทะเบียน และการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เป็นต้น

“มาตรการช่วยเหลือที่เราประกาศออกไปกระทบต่อกำไรของตลาดฯ แน่นอน แต่เรามุ่งแก้ปัญหาที่จะทำยังไงให้ทุกคนสามารถอยู่รอดและขยายธุรกิจได้ในอนาคต” นายภากร กล่าว

ในส่วนของการปรับเกณฑ์เพื่อการซื้อขายในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การขายชอร์ต (Short Selling) การปรับเกณฑ์ซิลลิ่ง-ฟลอร์ (Ceiling – Floor) และการปรับเกณฑ์หยุดการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Breaker) จะมีระยะเวลาถึง 30 มิ.ย.63 ตามที่ได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างไรก็ตาม ตลท.สามารถยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าวได้ก่อนกำหนด หากพบว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต.อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเครื่องมือและกฎเกณฑ์เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

เมื่อสอบถามถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) วงเงิน 400,000 ล้านบาท นายภากร กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในแง่ที่ บจ.สามารถนำเงินไปใช้คืนหนี้ หรือต่ออายุตราสารหนี้ (Roll-over) ได้ง่ายขึ้น และสามารถทำธุรกิจได้ต่อไป

ขณะที่ นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. เปิดเผยภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจำเดือน มี.ค.63 ว่า ในเดือน มี.ค. ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นจากเดือนก่อนเช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ในเดือน มี.ค.ปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดส่วนใหญ่ในอาเซียน เนื่องจากหลายธุรกิจปรับตัวรับกับสถานการณ์ได้ดี

โดยเฉพาะธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหาร ตลอดจนธุรกิจค้าปลีกและบริการทางการแพทย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในดัชนีของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวปรับตัวลดลงน้อยกว่า SET Index

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป นอกจากประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดแล้ว ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญกับความขัดแย้งระหว่างประเทศที่กระทบราคาน้ำมัน การปรับตัวของธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะการรองรับรูปแบบและปริมาณความต้องการภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนมาตรการของรัฐด้านการเงินและการคลังเพื่อการประคับประคองเศรษฐกิจในระยะนี้

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

-SET Index ณ สิ้นเดือน มี.ค.63 ปิดที่ 1,125.86 จุด ลดลง 28.7% จากสิ้นปีก่อน และ 16% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดย กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มบริการ ลดลงน้อยกว่า SET Index

-ในเดือน มี.ค.63 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย 78,363 ล้านบาท

-มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai ในเดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 71,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.8% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562

-อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิล่วงหน้า และย้อนหลัง (Forward และ Historical P/E) ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน มี.ค.63 อยู่ที่ระดับ 13.4 เท่า และ 13.0 เท่า ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.3 เท่า และ 12.8 เท่าตามลำดับ

-อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ณ สิ้นเดือน มี.ค.63 อยู่ที่ระดับ 4.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.6%

-มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (Market Capitalization) ของ SET และ mai ณ สิ้นเดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 12.3 ล้านล้านบาท ลดลง 27.7% จากสิ้นปี 2562

-ในไตรมาสแรกของปี 2563 มูลค่าการระดมทุนครั้งแรก (IPO) ของไทยอยู่ที่ระดับ 56,127 ล้านบาท ในขณะที่การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (SPO) มีมูลค่ารวม 67,592 ล้านบาท

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

-ในเดือน มี.ค.63 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 754,133 สัญญา ซึ่งเพิ่มขึ้น 40% จากเดือนก่อน