เว็บ “เราไม่ทิ้งกัน” แจก5พัน ตอบคำถามดราม่า “มนุษย์คลัง” กำกับ “AI” คัดชื่อ27ล้านคน

ในขณะที่หลายคน “กังขา” มาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่รัฐบาลแจกเงินเยียวยา 5 พันบาท ให้แก่แรงงานนอกระบบประกันสังคม – อาชีพอิสระ ที่มาลงทะเบียนขอรับสิทธิ์

ยอด ณ วันที่ 12 เม.ย. มีคนลงทะเบียนทะลุ 27 ล้านราย แต่ปรากฏว่า หลังกระทรวงการคลังตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์ในรอบที่ 1 จำนวน 7.99 ล้านราย

มีกลุ่มผ่านเกณฑ์ 1.68 ล้านราย และโอนเงินเข้าบัญชีหรือพร้อมเพย์ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนกลุ่มที่ต้อง “ขอข้อมูลเพิ่มเติม” จำนวน 1.53 ล้านราย และมีกลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์อีก 4.78 ล้านราย

จนทำให้เกิดการตั้งคำถาม “ระบบคัดกรอง” ที่กระทรวงการคลัง เคลมว่า ใช้ระบบ “AI” หรือ Artificial intelligence

“สมคิด จิรานันตรัตน์” ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมดูแลระบบลงทะเบียนของเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” คนที่อยู่ในแวดวงการเงินการธนาคาร รู้ชื่อ รู้ฝีมือเป็นอย่างดี ไต่ระดับเป็นผู้บริหารของ “แบงก์กสิกร” ตำแหน่งประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) อยู่เบื้องหลังโมบายแบงกิ้ง K+ คือตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่ “สมคิด” จะลาออก ส่งไม้ต่อกระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล

โปรไฟล์ปริญญาโท Master of Science, Computer Science จาก Oregon State University และรับปริญญาโท Master of Management จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กับตำแหน่งปัจจุบัน “ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่” ของ ธนาคารกรุงไทย เขาบอกว่า ระบบลงทะเบียนเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ทีมงานของ “กรุงไทย” ทำเองและทีม AI ของค่อนข้างเก่ง

ก่อนหน้านี้เขาให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในเรื่องการวางระบบโครงสร้างเว็บ

ล่าสุด เขาตอบคำถามเรื่อง “ดราม่า” เงิน 5,000 บาท ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ไว้น่าสนใจ ตอนหนึ่งว่า…

“ระบบ AI ที่นำมาใช้ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ไม่อยากจะเรียก AI เสียทีเดียว เพราะไม่ใช่ AI ประเภท Machine learning หรือ Deep learning”

AI ที่เอามาใช้ ไม่สามารถใช้ Machine learning หรือ Deep learning ได้ เพราะไม่มีข้อมูลมากพอ แต่ยังสามารถนิยามได้ว่าเป็น AI

เพราะมีการคัดกรองโดยคอมพิวเตอร์ โดยใช้ “มนุษย์” เป็นคนบอกวิธีการให้คอมพิวเตอร์ให้ไปดูฐานข้อมูลไหน และมีโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ทำตามนั้น ต้องใช้ “อัลกอริทึ่ม” ตรวจสอบหลายกระบวนการ

“สมคิด” บอกวิธีการการ “คัดกรอง” ทางกระทรวงการคลังจะเป็นคนกำหนดวิธีการคัดกรอง มีโจทย์ที่ตั้งไว้ หลักการกว้างๆ แยกเป็น 2-3 กลุ่ม

กลุ่มแรก ข้อมูล positive list เช่น ขับรถแท็กซี่ ก็จะไปตรวจสอบว่ามีใบขับขี่สาธารณะจริงหรือเปล่า หรือ ไปตรวจสอบข้อมูลตรงๆ ที่ประกันสังคมว่าเป็นแรงงานในระบบหรือไม่

กลุ่มสอง ข้อมูล negative list ไปตรวจเพื่อจะ “ตัดออก” เช่น ตรวจสอบจากถังข้อมูลนักศึกษ จากกระทรวงศึกษาธิการ ฐานข้อมูลเกษตรกร จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบจากประกันสังคม

แต่บางคนมีชื่ออยู่ทั้ง positive list และ negative list เช่น ปัจจุบันขับแทกซี่ แต่เคยลงทะเบียนเกษตรกรมาก่อน

วิธีการตัดสินในกลุ่มสองที่ใช้ข้อมูล negative list ขึ้นก่อนจึงทำให้ตกคุณสมบัติไปก่อน จึงมีการ “ยอมให้อุทธรณ์” ได้

เขาบอกว่า การใช้ระบบ negative list ขึ้นก่อน จะทำในกรณีที่รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด แต่ถ้าเอา positive list ว่าเขามีอาชีพนี้ แล้วมีผลกระทบจากอาชีพนี้เราก็ให้เลย

“สมคิด” เชื่อมั่นว่า ระบบคงไม่คลาดเคลื่อน เพราะคอมพิวเตอร์ทำตามที่ “มนุษย์” สั่งมัน แต่สิ่งที่จะทำให้ “คลาดเคลื่อน” ได้คือ “ข้อมูลในถังข้อมูลแต่ละถัง” อาจเป็นข้อมูลเก็บเป็น 10 ปี ซึ่งข้อมูลหลาย ๆ อย่าง เก็บด้วยมือเป็น 10 ปี อาจคลาดเคลื่อนได้ การคัดกรองในรายละเอียด