ท้องถิ่นเก็บภาษีวืด 2 หมื่นล้าน เศรษฐกิจทรุดโควิดซ้ำ-อัดงบเบี้ยหัวแตก

โควิดพ่นพิษเศรษฐกิจซบหนัก กทม.-ท้องถิ่น 7.8 พันแห่งภาษีลดวูบ 2 หมื่นล้าน กระทบจัดซื้อจัดจ้าง แผนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบถูกพับ มหาดไทยเฉือนสารพัดงบฯกู้วิกฤตโควิด หวั่นแจ็กพอตซ้ำรัฐสั่งลด-ยกเว้นจัดเก็บภาษีที่ดินก่อนดีเดย์เดือน ส.ค. ด้าน ป.ป.ช.จับตา ท้องถิ่นแห่จัดซื้อ “เจลล้างมือ-แอลกอฮอล์ อุโมงค์ฆ่าเชื้อ” เตือนทุจริตเจอเชือด

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจประเทศเสียหายในวงกว้างแล้ว ยังขยายวงส่งผลกระทบเศรษฐกิจฐานรากอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องถิ่น ชุมชน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สะท้อนชัดเจนจากยอดจัดเก็บรายได้จากภาษี และค่าธรรมเนียม ในส่วนกลางอย่าง กทม. และ อปท.ในต่างจังหวัดปรับลดลงมาก ส่วนรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปีนี้จะจัดเก็บเป็นปีแรกยังไม่มีเข้ามา

ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดึงงบประมาณรายจ่ายที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำ อาทิ รายจ่ายจัดซื้อจัดจ้าง งบฯลงทุน มาใช้ในการป้องกันแก้ไขวิกฤตโควิด ส่งผลกระทบการจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุนสาธารณูปโภค สาธารณูปการทั้งระบบ เพราะแจ็กพอตสองทางจากรายได้ที่จัดเก็บได้น้อยลง อีกทั้งถูกสั่งให้โยกงบฯเกือบทุกด้านไปเน้นแก้ปัญหาโควิด ไม่รวมงบฯส่วนอื่น ๆ จากส่วนกลาง รวมทั้งงบฯฉุกเฉินของจังหวัดที่จะนำมาสมทบกู้วิกฤตโควิดโดยเฉพาะทำให้ อปท.นับร้อยแห่งจากทั้งหมด 7,852 แห่งทั่วประเทศ ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง วัดสุอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ อุโมงค์ฆ่าเชื้อ ฯลฯ กันอย่างคึกคัก

ท้องถิ่นรายได้วูบหมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ถึงกลางเดือน เม.ย. 2563 กระทรวงมหาดไทยได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่า รายได้ของท้องถิ่นลดลงมาก ทั้งรายได้ในส่วนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล และรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง โดยเฉพาะรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้ ล่าสุดได้รับการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1 ใน 9 ส่วนที่กรมสรรพากรจัดเก็บตามประมวลรัษฎากร ซึ่งกฎหมายกำหนดให้กรมสรรพากรส่งให้ท้องถิ่น รวม 3.42 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2562 ส่งให้ 3.21 หมื่นล้านบาท

และจัดเก็บ VAT ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ส่งให้ท้องถิ่น 5.63 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2562 ส่งให้ 6.85 หมื่นล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิต จัดสรรภาษีสรรพสามิตให้ 3.32 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2562 ส่งให้ 3.37 หมื่นล้านบาท รวม 6 เดือนแรกปีงบฯ 2563 กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีส่งให้ท้องถิ่น 1.23 แสนล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2562 ส่งให้ 1.34 แสนล้านบาท ลดลง 1.06 หมื่นล้านบาท

เฉือนสารพัดงบฯโปะโควิด

ขณะเดียวกัน ภายใต้สถานการณ์ที่โรคติดเชื้อโควิดยังแพร่ระบาด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดยังต้องตั้งการ์ดสูง เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น รัฐบาลกำหนดนโยบายให้กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ อปท.ทั้ง 7.8 พันแห่ง เกลี่ยงบฯที่จัดสรรไว้สำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง งบฯลงทุนที่ยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างหรือลงทุนกันไว้สำหรับเป็นงบฯในการป้องกันและควบคุมโรคโดวิดโดยเฉพาะ โดยจัดลำดับความสำคัญโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคโควิดเป็นลำดับแรก ขณะนี้ อปท.ส่วนใหญ่จึงชะลอจัดซื้อจัดจ้างโครงการตามปกติออกไป แล้วหันมาเน้นหนักแก้วิกฤตโควิดเป็นหลัก

กระทบโครงการพัฒนาท้องถิ่น

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีดังกล่าวส่งผลให้การพัฒนาท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ถูกชะลอออกไป เนื่องจากงบฯซึ่งเดิมถูกจัดสรรไว้สำหรับก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุง ก่อสร้างถนน ทางเท้า จัดซื้อจัดจ้างสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้กับประชาชน ต้องเลื่อนระยะเวลาออกไปก่อน เพื่อนำมาใช้ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการดูแลรักษาสุขภาพ โดยประชาชนในพื้นที่ อปท.แต่ละแห่งยังได้รับประโยชน์เหมือนเดิม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนจากสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เป็นการป้องกันรักษาสุขอนามัยแทน

หวั่นวืดจัดเก็บภาษีที่ดิน

ที่น่าห่วงคือการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะจัดเก็บปีนี้เป็นปีแรก และต้องเริ่มสำรวจ ประเมินราคาที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดในอาคารชุด เพื่อประเมินจัดเก็บภาษีภายในเดือน เม.ย. 2563 แต่กระทรวงมหาดไทยประกาศเลื่อนระยะเวลาจัดเก็บออกไป 4 เดือน ให้ผู้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยื่นชำระภาษีภายในวันที่ 31 ส.ค. 2563 แทนถึงตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป จากโรคโควิดที่ส่งผลกระทบประชาชน ภาคธุรกิจอย่างรุนแรง จึงอาจต้องคิดหนักว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ซึ่งตามกำหนดต้องดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือน ส.ค. จะเป็นการซ้ำเติมประชาชนหรือไม่ โดยประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ระดับนโยบายต้องตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม หากจัดเก็บภาษีที่ดินฯไม่ได้ หรือรัฐบาลลดอัตราการจัดเก็บเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียภาษี ก็อาจต้องจัดสรรงบฯช่วยเหลือ อปท.ทั้ง 7.8 พันแห่งเป็นกรณีพิเศษ เพราะเท่ากับไม่สามารถจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้เลย หรือจัดเก็บได้น้อยมาก จากปกติท้องถิ่นจะมีรายได้จากภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ เข้ามาตั้งแต่เดือน เม.ย.ทุกปี

กทม.รายได้วูบหมื่นล้าน

นายธรรมรัตน์ มุกมีค่า ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.ตั้งเป้าประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 83,000 ล้านบาท แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจ การเลื่อนเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องลดเป้าการจัดเก็บรายได้ คาดว่าทั้งปีนี้จะจัดเก็บได้ 73,000 ล้านบาท หายไปประมาณ 10,000 ล้านบาท

“เป้าจัดเก็บ 73,000 ล้านบาท จะต้องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเดือน ส.ค.นี้ ที่ตั้งเป้าจะจัดเก็บได้ 14,000 ล้านบาท แต่หากรัฐเลื่อนออกไปเป้ารายได้จะลดลงจากนี้ หรือหายไปร่วม 24,000 ล้านบาท ตอนนี้จึงยังไม่สามารถประมาณได้อย่างชัดเจน เพราะรัฐบาลอาจจะลดส่งรายได้ให้กับท้องถิ่นด้วย ซึ่งจะส่งผลไปถึงการตั้งเป้าประมาณการรายได้ในปี 2564”

นายธรรมรัตน์กล่าวอีกว่า ผลจัดเก็บรายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562-วันที่ 30 เม.ย. 2563 อยู่ที่ 41,673.266ล้านบาท หรือ 50.21% ต่ำจากประมาณการอยู่ที่ 41,326.733 ล้านบาท หรือ 49.79%

ทุ่มงบฯป้องกันโควิดคนกรุง

“เมื่อรายได้ไม่เข้าเป้า จะต้องลดงบประมาณการลงทุนมาช่วย ซึ่งสำนักงบประมาณ กทม.กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะปรับลดส่วนไหนได้บ้าง ขณะเดียวกัน กทม.กำลังขออนุมัติจากสภา กทม.ขอดึงเงินสะสม 8,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในภารกิจที่สำคัญ”

นางสาวอำภา นรนาถตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้แต่ละหน่วยงานปรับลดงบประมาณลง 20% สำหรับโครงการที่สามารถชะลอได้ และยังไม่ได้ผูกพัน เพื่อนำเงินมาดำเนินการต่าง ๆ ทดแทนรายได้ที่จัดเก็บไม่เข้าเป้า ขณะเดียวกันจะขอใช้งบฯกลางฉุกเฉินของปี 2562 ที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท จำนวน 200 ล้านบาท แก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบัน กทม.ได้รับงบฯสำหรับแก้ปัญหาโควิด-19 มาจากหลายส่วน ทั้งที่รัฐบาลกลางสนับสนุน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

แห่จัดซื้อจัดจ้างงบฯโควิด

ผู้สื่่อข่าวรายงานว่า จากการสุ่มสำรวจพบว่าขณะนี้ อปท.หลายแห่งประกาศจัดซื้อ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ก็ได้มีการจัดสรรงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์อื่น ๆ 5 ล้านบาท ทางเทศบาลเมืองชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ได้มีโครงการซื้อถุงมือปราศจากเชื้อ, หน้ากากอนามัยและแอลกฮอล์เจลฆ่าเชื้อล้างมือ ฯลฯ

พันตำรวจเอกธงชัย เย็นประเสริฐ นายก อบจ.นนทบุรี เปิดเผยว่า ช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีสามารถจัดเก็บภาษีที่รับผิดชอบได้น้อยลง 10-20% ซึ่งอยู่ในจำพวกธุรกิจโรงแรม สุรา น้ำมัน หลายโครงการที่ต้องใช้งบประมาณหากไม่มีความจำเป็นหรือเร่งด่วนต้องหยุดชะงักก่อน โดยมีการนำเงินสะสมที่มีอยู่ของ อบจ. จำนวนกว่า 50 ล้านบาท มาใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิดแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีงบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่จะซื้อข้าวของเครื่องใช้บริจาคให้กับประชาชน

ด้านนายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ในจังหวัดอุดรธานีก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคอีสานที่มีโครงการป้องกันระบาดของเชื้อโควิดแบบเชิงรุก โดยทาง อบจ.ใช้งบประมาณที่สะสมไว้มาใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแทพย์รวมกว่า 26 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ 273 เครื่อง น้ำยาฆ่าเชื้อ 16,000 ลิตร เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ 280 เครื่อง หน้ากากอนามัยแบบผ้า 5 แสนผืน รวมไปถึงชุด PPE รองเท้าบูต แว่นตา ส่งให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัด เช่น โรงพยาบาล สาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น


ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า แม้การควบคุมป้องกันโรคโควิดเป็นเรื่องจำเป็นและต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ไม่ให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบกับสุขภาพประชาชน แต่ ป.ป.ช.กำลังจับตามองและติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวจากหลายด้าน เนื่องจากได้รับแจ้งข้อมูล เบาะแส ทั้งจากสื่อมวลชน การเผยแพร่ข้อมูลของบุคคลต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ว่าส่วนราชการบางหน่วยงานใช้จ่ายงบประมาณในการจัดซื้อจัดสร้างที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมโรคโควิด โดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตงบประมาณรัฐ ดำเนินการไม่โปร่งใส ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่สูง และแพงกว่าราคาตลาด เบื้องต้นได้ทำหนังสือแนะนำให้ดำเนินการด้วยความถูกต้อง หากฝ่าฝืนหรือทำผิดระเบียบกฎหมายจะดำเนินการโดยเฉียบขาด