เปิดเมืองดัน หุ้นรถไฟฟ้า พุ่ง BTS ชูแผนรับคลายล็อกดาวน์

(แฟ้มภาพ) ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในข่าว

หุ้นในกลุ่มขนส่งอย่าง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ดูจะฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ราคาหุ้น BTS ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (9 เม.ย.-11 พ.ค.) ปรับเพิ่มขึ้น 14.56% จาก 10.30 บาท/หุ้น มาอยู่ที่ 11.80 บาท/หุ้น ส่วนราคาหุ้น BEM ในช่วงเวลาเดียวกัน ปรับเพิ่มขึ้น 14.79% จาก 8.45 บาท/หุ้น มาอยู่ที่ 9.70 บาท/หุ้น

หุ้น BEM เด่น-รายได้ฟื้นเร็ว
“วิจิตร อารยะพิศิษฐ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า ทั้ง BTS และ BEM มีความน่าสนใจเหมือนกัน ตรงที่ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม เมย์แบงก์ฯเลือก BEM เป็นหุ้นเด่นที่ราคาเป้าหมาย 13.00 บาท/หุ้น เนื่องจากโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับขึ้นไปถึงราคาเป้าหมาย (upside) ยังมีมากกว่า BTS รวมถึง BEM มีรายได้จากทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า จึงได้ประโยชน์ 2 เด้งจากกระแสการเปิดเมือง

“เราแนะนำแบ่งไม้ลงทุน แนวต้านรอบนี้เต็มรอบ น่าจะอยู่ที่ 10 บาท โดยราคาที่วิ่งขึ้นมาจากบริเวณ 6 บาท อาจมีการย่อตัวลงบ้าง แต่ไม่น่าจะหลุด 9 บาท สำหรับคนที่ลงทุนสั้น อาจต้องหาจังหวะซื้อทำกำไรตอนราคาย่อลงมา แต่สำหรับคนที่ถือลงทุนระยะกลางถึงยาวแนะนำทยอยสะสมได้” นายวิจิตรกล่าว

ขณะที่ “สรพล วีระเมธีกุล” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หุ้นในกลุ่มรถไฟฟ้าจะได้อานิสงส์เชิงบวกจากการกลับมาเปิดเมือง มากกว่าหุ้นในกลุ่มห้างสรรพสินค้าและโรงแรม โดยฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย เลือก BEM เป็นหุ้นเด่นที่ราคาเป้าหมาย 10.60 บาท/หุ้น เนื่องจาก BEM ได้รับประโยชน์จากจำนวนยอดผู้ใช้ทางด่วนที่กลับมาได้ค่อนข้างเร็วที่ประมาณ 8 แสนกว่าราย/วัน จาก 5.5 แสนราย/วัน ส่วนยอดผู้ใช้รถไฟฟ้าจะยังอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนราย/วัน จากช่วงก่อนเกิดการระบาดที่ 4.5 แสนราย/วัน ซึ่งเป็นผลจากการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) ที่แม้ว่าคนจะเดินทางกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ แต่ยังเลือกใช้รถส่วนตัวมากกว่าขนส่งสาธารณะ

“นอกจากนี้ ราคาหุ้น BEM ยังมี upside จากรถไฟฟ้าสายสีส้มอีก ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าราคาเป้าหมายจากปัจจัยดังกล่าวจะปรับขึ้นไปอยู่ที่เท่าไหร่ แต่เบื้องต้นคาดว่าจะบวกเพิ่มขึ้นอีก 1-3 บาท” นายสรพลกล่าว

“โควิด” ฉุดกำไร BTS หด 11%

สำหรับในส่วนของ BTS “สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน (CFO) BTS กล่าวในการเสวนา “ห่วงใย Thai Business” CFO ชวนคุย EP.4 หัวข้อ “คุยกับ บีทีเอส กรุ๊ป แผนหลังปลดล็อกดาวน์” ว่า BTS มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มาจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชนราว 40% ธุรกิจสื่อ 20% และ ที่เหลือมาจากธุรกิจอื่น ๆ

โดยตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วงปลายเดือน มี.ค.ถึงต้นเดือน เม.ย. 2563 กระทบต่อ EBITDA ของบริษัทไปราว 11% ขณะที่กำไรจากธุรกิจสื่อ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลัก ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะสื่อโฆษณานอกที่อยู่อาศัย ส่วนธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงแรม รายได้ก็หายไปเช่นกัน จากการประกาศปิดตามนโยบายรัฐ

อย่างไรก็ดี รายได้จากธุรกิจสื่อออนไลน์ และธุรกิจโลจิสติกส์ที่บริษัทได้ลงทุนใน บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย (Kerry) 23% ยังเติบโตได้ดี คาดว่าจะสามารถชดเชยรายได้ที่หายไปได้บางส่วน รวมถึงธุรกิจรับจ้างก่อสร้างรถไฟฟ้า ก็ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งถือเป็นข้อดีของการกระจายพอร์ตลงทุน

BTS เปิดแผนธุรกิจรับเปิดเมือง

การดำเนินธุรกิจหลังจากคลายล็อกดาวน์นั้น “สุรยุทธ” กล่าวว่า BTS ได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ ไว้ โดยให้มีการรักษาระยะห่างของผู้โดยสาร เช่น ให้เติมเงินออนไลน์ผ่านบัตรโดยสารแทนการเติมเงินที่เคาน์เตอร์, การแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้โดยสาร และการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ในสถานี เป็นต้น

สำหรับการเดินรถ ล่าสุด BTS ได้เพิ่มความถี่การให้บริการรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทและสายสีลม ในช่วง 2-3 ทุ่มก่อนเคอร์ฟิว รวมถึงร่วมมือกับ กทม.ในการจัดสรรเจ้าหน้าที่เทศกิจและทหารในการจัดระเบียบผู้โดยสาร โดยล่าสุดได้ขอความร่วมมือไปยัง กทม.ในการปรับเวลาเข้างานและเวลาเลิกงานของบุคลากรให้เหลื่อมกัน เพื่อลดความแออัดด้วย

ขณะที่การลงทุนหลังจากนี้ “สุรยุทธ” กล่าวว่า บริษัทมีหลักการในการเลือกลงทุนร่วมในธุรกิจ (VC) อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า บริษัทไม่ได้ทำแค่ธุรกิจรถไฟฟ้า จึงพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ เหมือนอย่างที่มีการทำบัตร Rabbit ทำเรื่องระบบการชำระเงิน (payment) รวมถึงลงทุนในธุรกิจสื่อร่วมกับ บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) ในช่วงที่ผ่านมา

“อะไรที่ก่อให้เกิดการผนึกกำลังทางธุรกิจได้ เราก็พร้อมที่จะทำ แล้วถ้าเกิดว่าเจ้าของเขาสบายใจหรือพร้อมให้เราเข้าไปถือหุ้นด้วย เราก็ยิ่งยินดี เราชอบที่มีพาร์ตเนอร์เยอะ ๆ เพราะตัวเราเองไม่ได้เก่งทุกอย่าง” นายสุรยุทธกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันธุรกิจของ BTS ประกอบไปด้วย 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.การลงทุนกองทุน BTSGIF 11% 2.การรับจ้างเดินรถกรุงเทพฯ และ 3.ซ่อมบำรุง 23% และ 4.ธุรกิจสื่อโฆษณา 29%

สุดท้ายคงต้องติดตามว่า รัฐจะคลายล็อกดาวน์ได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้หรือไม่ และจะมีมาตรการดูแลอย่างไร เพื่อไม่ให้ “โควิด-19” เกิดการระบาดซ้ำรอบ 2 ซึ่งว่ากันว่าหากเกิดขึ้น จะหนักกว่ารอบแรก