“ฐิติกร” กำไรQ1 ลด10% หลังปรับใช้ TFRS9-เข้มปล่อยกู้

ปฐมา พรประภา

“ลีสซิ่งฐิติกร” เผยผลประกอบการไตรมาส 1/63 กำไรสุทธิ 100.6 ล้านบาท ลดลง 10.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากปรับใช้ TFRS9 ลูกหนี้เช่าซื้อรวม 6,777.7 ล้านบาท ลดลง 8.9% และมีลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 6,127.9 ล้านบาท ลดลง 11.7% เนื่องจากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์มาตลอด 6 ไตรมาสที่ผ่านมา

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดไตรมาส 1 โดยรายได้รวมเท่ากับ 740.9 ล้านบาท ลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ กำไรสุทธิรวม 100.6 ล้านบาท ลดลง 10.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากมีการเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีแบบใหม่ TFRS9 ลูกหนี้เช่าซื้อรวมทั้งสิ้น 6,777.7 ล้านบาท ลดลง 11% อันเป็นผลมาจากนโยบายการเร่งตัดหนี้สูญและเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2561

โดยลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศ จำนวน 1,425.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.7% จากสิ้นปี 2562 และเพิ่มสัดส่วนเป็น 22.2% นอกจากนี้บริษัทฯ มีนโยบายเร่งขยายตลาดในต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มสาขาในต่างประเทศอีก 9 สาขา โดยที่กัมพูชา เพิ่ม 6 สาขาให้ครบจำนวน 12 สาขาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและที่ สปป.ลาว คาดว่าเพิ่ม 3 สาขา รวมเป็น 6 สาขา ภายในกลางปีนี้ ซึ่งอาจจะมีการอนุมัติล่าช้าเนื่องจากใน สปป.ลาว มีการ Lock Down ประเทศในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการอนุมัติการเข้าซื้อกิจการไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการและคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าสัดส่วนลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 30%

นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศในช่วง 3 เดือนแรก มียอดจดทะเบียน 431,004 คัน ลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ 462,205 คัน อีกทั้งอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในประเทศมีการปรับเป้าการผลิตรถจักรยานยนต์ลง 2 แสนคัน เหลือ 1.8 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อขายในประเทศ 1.5 ล้านคัน (เดิมตั้งไว้ 1.7 ล้านคัน) และส่งออก 3 แสนคัน (เดิมตั้งไว้ 4 แสนคัน) ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อภายในประเทศและผลของสงครามการค้าสหรัฐและจีน ต่อเนื่องมาถึงปัญหาวิกฤติ COVID-19 ซึ่งยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดได้อย่างชัดเจน แต่ในเบื้องต้นบริษัทได้มีการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นการเตรียมพร้อม ทั้งในส่วนของการช่วยเหลือลูกค้าและแผนงานการดำเนินธุรกิจของบริษัท หากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงลากยาวไปจนถึงปลายปีหรือยาวกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์รอบด้าน คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศจะยังมีการชะลอตัวไปอีกระยะหนึ่ง โดยในช่วงนี้ TK จะเน้นการบริหารคุณภาพลูกหนี้ ควบคู่กับการเติบโตในตลาดต่างประเทศ ส่วนในประเทศ หากสถานการณ์ดังกล่าวปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น TK ก็มีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะความพร้อมทางด้านฐานทุนและการเงินในการกลับมาเร่งทำตลาด โดยทั้งหมดนี้นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากในการดำเนินธุรกิจในปี 2563

“ในปี 2563 นี้ ถึงแม้จะเป็นปีที่มีความท้าทาย โดยเฉพาะความท้าทายจากโรคระบาดอุบัติใหม่อย่างไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบกับทั้งสังคมและเศรษฐกิจไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ดังนั้น นอกจากจะต้องบริหารธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว TK ยังให้ความสำคัญเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานทุกคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังให้ติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยที่ผ่านมาเราได้มีโครงการให้ความช่วยเหลือลูกค้าในหลายรูปแบบ เช่น การพักชำระหนี้หรือชำระบางส่วนของค่างวด การให้ความคุ้มครองฟรีกรณีตรวจพบการติดเชื้อ COVID-19 และการให้ส่วนลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในกรณีลูกค้าปิดจบสัญญาก่อนกำหนด” นายประพลกล่าว