ใช้กลยุทธ์ Selective Buy ในช่วง SET ที่มีมูลค่าตึงตัว

กระดาน​หุ้น
คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน
โดย เอกภาวิน สุนทราภิชาติ บล.ไทยพาณิชย์

สวัสดีครับท่านผู้อ่านตลาดหุ้นบ้านเราและต่างประเทศยังไม่ยอมลงง่าย ๆ หลังจากที่สะท้อนปัจจัยบวกเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลงในหลายประเทศ และรวมถึงไทยเราเองเริ่มใช้มาตรการปลด lockdown เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ตลาดยังไม่ได้มีปัจจัยลบที่ชัดเข้ามากระทบ หลังจากความกังวลเรื่องสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนที่ลดลง เนื่องจากการพูดคุยระหว่างผู้แทนการค้าของสหรัฐและจีน ซึ่งผลออกมาในทางบวก โดยต่างฝ่ายเน้นย้ำในการปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้าที่ได้ทำกันไว้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนียังไม่มีปัจจัยลบที่ชัด แต่ปัจจัยบวกเรื่องการปลด lockdown ได้สะท้อนในดัชนีค่อนข้างมากแล้ว รวมถึงมูลค่าพื้นฐานที่ตึงตัวเมื่อเหนือระดับ 1,300 จุดขึ้นไป โดย SET จะเทรดอยู่ที่ P/E ระดับ 15.30 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่เหนือค่าเฉลี่ยที่ P/E 15 เท่าแล้ว เมื่อดูกรอบบนของระดับ P/E บริเวณ 15.5-16.0 เท่า จะได้ SET ที่มีมูลค่าอยู่บริเวณที่ 1,320-1,360 จุด ผมถือว่าเป็นแนวต้านทางปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้น จะเห็นว่าบริเวณ 1,300 จุด มี upside เหลือไม่มากแล้วเมื่อเทียบกับปัจจัยทางพื้นฐาน ทำให้การปรับขึ้นย่อมเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาเป็นระยะ ๆ

ดังนั้น จากนี้ไปหุ้นในตลาดจะไม่ได้ขึ้นทุกตัวเหมือนในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับหากมีปัจจัยลบเข้ามา ซึ่งผมให้ติดตาม 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 หลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการปลด lockdown และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น และ 2) การค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังคณะกฎหมายของข้อตกลงการค้าระบุว่าปธน.ทรัมป์สามารถคว่ำบาตรจีนได้หากไม่ให้ความร่วมมือสืบสวนการแพร่ระบาดไวรัส ทำให้สถานการณ์กลับมาตึงเครียดได้ทุกเมื่อ ดังนั้น จาก SET ที่มีมูลค่าที่ตึงตัวแล้ว และให้ระวังปัจจัยลบใน 2 ประเด็นดังกล่าวที่จะกลับมาสร้างความกังวลต่อตลาดหุ้น

ในมุมมองของผมเห็นว่า กลยุทธ์ selective buy น่าจะเหมาะกับภาวะตลาดในระยะนี้หรือระยะถัดไป หากตลาดหุ้นเริ่มพักฐานปรับตัวลงโดยหุ้นที่เป็นหลุมหลบภัย และจะเป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบน้อย หากสงครามการค้ารอบ 2 เกิดขึ้น รวมถึงเป็นหุ้นพื้นฐานดีที่น่าซื้อสะสมเพื่อการลงทุน โดยแนะนำ 5 หุ้นธุรกิจผู้นำ ได้แก่

1) AOT ผู้นำท่าอากาศยาน หลังโควิด-19 จำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเป็นปกติ และระยะยาวมีแผนขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 180 ล้านคนต่อปีภายในปี 2039 จากปัจจุบัน 101 ล้านคนต่อปี

2) ADVANC ผู้นำด้านโทรคมนาคม มีจำนวนคลื่นและลูกค้าสูงสุดในอุตสาหกรรม

3) BDMS ผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน มีแผนเพิ่มเตียงเป็น 9,400 เตียง ภายในปี 2024 จาก 6,198 เตียงในปัจจุบัน

4) BTS ผู้นำระบบขนส่งมวลชน การเปิดส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและใต้ จะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น

5) CPALL ผู้นำค้าปลีกค้าส่ง มีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสู่ 11,712 แห่ง จาก 10,268 แห่งในปี 2017 และคาดมี synergy เกิดขึ้นหลังเข้าซื้อกิจการเทสโก้ในไทย

ส่วนกลุ่มหุ้นที่ผมให้ระวังมีดังต่อไปนี้ ซึ่งราคาหุ้นในตลาดเริ่มไม่สมเหตุสมผลกับมูลค่า หรือเป็นกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าแพงแล้วนั่นเอง ได้แก่

1) AWC ราคาปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว 104% ขณะที่ตลาดปรับ EPS ลงหลังเกิดโควิด-19 กว่า 13% และราคาหุ้นในตลาดสูงกว่าราคาเป้าหมายของ consensus มาแล้ว 21% และล่าสุดหากเทียบผลการดำเนินงานในปี 2020 หุ้นเทรดที่ระดับ P/BV 2.30 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ยในอดีต

2) CRC ราคาปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว 78% ขณะที่ตลาดปรับ EPS ลงหลังเกิดโควิด-19 กว่า 33% และราคาหุ้นในตลาดเท่ากับราคาเป้าหมาย

ของ consensus แล้ว และล่าสุด หากเทียบผลการดำเนินงานในปี 2020 หุ้นเทรดที่ระดับ P/BV 2.89 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ระดับ 2.32 เท่า

3) GULF ราคาปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว 72% ขณะที่ตลาดปรับ EPS ลงหลังเกิดโควิด-19 ในระดับ 5% และราคาหุ้นในตลาดสูงกว่าราคาเป้าหมายของ consensus มาแล้ว 10% และล่าสุดหากเทียบผลการดำเนินงานในปี 2020 หุ้นเทรดที่ระดับ P/BV 9.48 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ระดับ 5.52 เท่า

4) OSP ราคาปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว 52% ขณะที่ตลาดปรับ EPS ลงหลังเกิดโควิด-19 ในระดับ 3% และราคาหุ้นในตลาดสูงกว่าราคาเป้าหมายของ consensus มาแล้ว 3% และล่าสุดหากเทียบผลการดำเนินงานในปี 2020 หุ้นเทรดที่ระดับ P/BV 6.34 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ระดับ 5.23 เท่า

5) THAI ราคาปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว 168% ขณะที่ตลาดปรับ EPS ลงหลังเกิดโควิด-19 กว่า 136% และราคาหุ้นในตลาดสูงกว่าราคาเป้าหมายของ consensus มาแล้ว 45% และล่าสุดหากเทียบผลการดำเนินงานในปี 2020 หุ้นเทรดที่ระดับ P/BV 2.37 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ระดับ 1.15 เท่า

…และพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ ด้วยรักและหวังดี