“เครดิตบูโร” ห่วงสินเชื่อบ้าน-รถหนี้ปูด ดันยอดปรับโครงสร้างหนี้ทะลุ 1 ล้านล้าน

“เครดิตบูโร” ชี้ปี’63 เห็นยอดปรับโครงสร้างหนี้ทะลักแตะ 1 ล้านล้านบาท แรงส่งจากมาตรการ ธปท.-แบงก์พาณิชย์ อุ้มลูกหนี้ฝ่าโควิด-19 จับตาสินเชื่อบ้าน-รถยนต์-บุคคล ผิดนัดชำระ-หนี้เสียทะยาน ห่วง Gen-Z สร้างหนี้เร็ว-หนี้ปูดไว

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้จะเห็นยอดการปรับโครงสร้างหนี้แตะ 1 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินออกมาตรการช่วยลูกหนี้ ซึ่งหากดูตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2562 ที่อยู่ 7.7 แสนล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 8.4 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 9.7 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 1/2563 ทั้งนี้ยังไม่รวมมาตรการปรับหนี้เชิงป้องกัน (DR) ผ่านมาตรการ ซึ่งสะท้อนความเปราะบางของครัวเรือนไทย

ขณะที่ตัวเลขการขอสินเชื่อใหม่ในไตรมาส 1 พบว่าอยู่ที่ 4.5 ล้านบัญชี ถือว่าไม่สูงมากนัก เนื่องจากธนาคารมีความเข้มงวดในการคัดกรองลูกค้ามากขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขการขอค้นหาข้อมูลเก่าของลูกค้า (Credit Review) ที่เพิ่มขึ้นมาก โดยในช่วง 4 เดือนแรกอยู่ที่ 26 ล้านครั้ง และคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 70 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 55 ล้านครั้ง เนื่องจากธนาคารต้องการคัดกรองลูกค้าใหม่เพื่อหาลูกค้าที่มีคุณภาพ และเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อใหม่ในลูกค้าเดิมด้วย

ทั้งนี้ หากดูอัตราการเติบโตสินเชื่อ 4 ประเภทภาพรวมมีอัตราการเติบโต 3.5% โดยสินเชื่อบัตรเครดิต เติบโต 4.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดิมขยายตัวค่อนข้างสูง สินเชื่อส่วนบุคคล 2.6% สินเชื่อรถยนต์ 2.8% สินเชื่อที่อยู่อาศัย 3.7% และสินเชื่อโอดีติดลบ 1.4%

“มองปี 63-64 เป็นปีแห่งมหกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ โดยในปีนี้เราเห็นยอดทะลุ 1 ล้านล้านบาทแน่นอน เพราะมาตรการของ ธปท.ที่ต้องการให้แบงก์ช่วยปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ DR เพื่อไม่ให้เอ็นพีแอลไหลเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเราต้องรอดูว่าไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นไตรมาสลงลึกสุดจะอยู่ที่เท่าไรถึงคาดการณ์หนี้เสียได้”

นายสุรพล กล่าวต่อไปว่า จากฐานข้อมูลลูกหนี้ 28 ล้านคน พบว่า สินเชื่อรถยนต์เริ่มมีสัญญาณการค้างชำระในลักษณะผ่อนงวดเว้นงวดมากขึ้น หรือเริ่มผ่อนชำระติดขัดมากขึ้น ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับตัวสูงขึ้นจากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 5.9% เป็น 6.2% เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้ไม่เน้นการปรับโครงสร้างหนี้ แต่จะใช้วิธีการยึดรถ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างรถยนต์อยู่ที่ 2.43 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสังเกตุ พบว่า กลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ หรือกลุ่ม Gen-Z ที่มีอยู่อายุ 22 ปี จากฐานข้อมูลเครดิตบูโรที่มีอยู่ 2 แสนคน พบว่า สัดส่วนภาระหนี้ของกลุ่มนี้ประมาณ 55% เป็นหนี้สินเชื่อรถยนต์ โดยเฉลี่ยมียอดหนี้ประมาณ 5.7-6 แสนบาทต่อคน จากยอดสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ 3.2 หมื่นล้านบาท พบว่าในจำนวนหนี้ดังกล่าวประมาณ 500 ล้านบาท เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี หากดูไส้ในยอดหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 แสนบาทต่อราย แบ่งเป็นการกู้สินเชื่อส่วนบุคคล 24% สินเชื่อธุรกิจ 32% สินเชื่อรถยนต์ 16%

ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนบัญชีอาจจะน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แต่พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยในเดือน มี.ค.62 อยู่ที่ 8.7 หมื่นบัญชี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 2.89 แสนบัญชี ซึ่งการเติบโตส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อออนไลน์ (Digital Lending) ที่ธนาคารหันมาให้ความสำคัญ และกลุ่ม Gen-Z ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธนาคารพาณิชย์

ขณะเดียวกัน สินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน เนื่องจากสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราหนี้เสียมีทิศทางชันขึ้น โดยหนี้เสียเพิ่มจาก 4.6% เป็น 5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยจะเห็นตัวเลขสูงขึ้นมากตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ 1.2% มาเป็น 2.7% ในไตรมาส 1 ปี 2563

ทั้งนี้ สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ให้ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จากสัญญาณการชำระหนี้และเอ็นพีแอลที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มีบัญชีเปิดใหม่ประมาณ 8 หมื่นบัญชี ซึ่งลดลงจากเดิมค่อนข้างมาก คาดว่าในปีนี้ยอดบัญชีสินเชื่อบ้านจะอยู่ที่ 3 แสนบัญชี อย่างไรก็ดี ในจำนวนดังกล่าว พบว่า ประมาณ 64% เป็นกลุ่ม Gen-Y ที่เข้ามาขอสินเชื่อ ซึ่งดูไส้ในพบว่ามีแนวโน้มการค้างชำระค่อนข้างสูง

“เราห่วงสินเชื่อที่กู้เป็นก้อนๆ และผ่อนชำระเป็นงวดๆ ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคลที่มีแนวโน้มของยอดค้างชำระมากขึ้น และหนี้เสียชันขึ้น ส่วนสินเชื่อรถยนต์เรากังวลในกลุ่มลูกค้า Gen-Z ที่เริ่มหันมากู้สินเชื่อประเภทนี้มากขึ้น และจะเห็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มนี้ แต่โดยรวมสินเชื่อทุกประเภทมีปัญหาหมด”