กสิกรไทย ชี้โควิดดึงไทยสู่ New Normal รอบใหม่ กดดันแบงก์ 5 ด้าน

กสิกรไทย ชี้ โควิด-19 ผลักไทยเผชิญ New Normal ระลอก 2 กดดันภาคการเงินเปลี่ยนแปลง 5 ด้านสำคัญ คนแห่ใช้ระบบชำระเงิน ดันยอดโมบายแบงกิ้งพุ่ง 36% -นโยบายสินเชื่อเข้ม-พัฒนาข้อมูลผ่านลูกค้าดี-ไม่ดี พร้อมดึงพันธมิตรร่วมมือ-พึ่งพาตนเอง แนะเร่งปรับตัวตั้งรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ทั้งนักลงทุน-ผู้นำ-เจ้าของธุรกิจ-พนักงาน เชื่อทุกวิกฤตย่อมสร้างผลประโยชน์การเรียนรู้ 


นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ความปกติใหม่ในสถาบันการเงินและการปรับตัวของผู้นำ (New Normal in Banking and Financial Sector) ในงาน “Women in Tech 24H Virtual World Tour” ซึ่งเป็นงานสัมนาระดับโลกที่จัดต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงทางออนไลน์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิง เด็กผู้หญิงมีความสนใจในด้านเทคโนโลยี ว่า ก่อนจะเกิดระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเห็นว่าไทยได้เกิดคำว่า New Normal หรือ ความปกติใหม่ ซึ่งเป็น New Normal ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ฟินเทคสตาร์สอัพ ส่งผลให้การแข่งขันเปลี่ยนไป ถือเป็น New Normal ครั้งที่ 1 

และภายหลังเกิดโควิด-19 ส่งผลให้เกิด New Normal ครั้งที่ 2 เกิดขึ้น โดยครั้งนี้การเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ จะเห็นว่าทิศทางเศรษฐกิจจะเติบโตไม่สูงเหมือนในอดีต และการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาลพยายามมาช่วยเรื่องของเศรษฐกิจและสาธารณสุข แต่หลังจากนี้จะเห็นว่าเครื่องมือที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจคงไม่เหมือนเดิม

ดังนั้น New Normal ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ พฤติกรรมผู้บริโภคจะห่วงสุขภาพมากขึ้น และคนจะอยู่บ้านมากขึ้น เดินทางน้อยลง และเกิดโกลบอลไลเซซั่น ซึ่งคนจะมีความคุ้นชินด้านดิจิทัลมากขึ้น อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่เริ่มมีความไม่แน่นอนทางด้านรายได้ มีการเก็บออมเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการรายได้ลดลง ซึ่งมีผลต่อโมเดลธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไป และซัพพลายเชนเปลี่ยนแปลง เกิดการย้ายฐานการผลิตมาอยู่ใกล้กับผู้บริโภคมากขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วน New Normal ของธนาคารจะมี 5 ด้านด้วยกัน คือ 1.Contactless Payment จะเห็นตัวเลขการใช้ผ่านโมบายแบงกิ้งในเดือนเมษายนเติบโตเพิ่มขึ้น 36% โดยในเอเซียแปซิฟิกมีสัดส่วนการใช้ Contactless Payment สูงถึง 91% สอดคล้องกับข้อมูล ITMX ที่มียอดพร้อมเพย์ในเดือนม.ค.-เม.ย.เติบโต 16% ขณะที่การสมัครบัญชีเงินฝากโดยไม่ต้องมาสาขา (e-Saving) ซึ่งก่อนมีโควิด-19 พบยอดบัญชีอยู่ที่ 5,000 บัญชี ปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 แสนบัญชี โดยในจำนวนดังกล่าวประมาณ 60% เป็นลูกค้าใหม่ 

ขณะที่ยอดรายการธุรกรรมที่ทำผ่านโมบายแบงกิ้ง แบ่งเป็น ช้อปปิ้งออนไลน์ 86% QR Code Payment 66% K PLUS 57% และ Call Center 21% สำหรับช่องทางสาขา (Branch) จะเห็นปริมาณธุรกรรมปรับลดลงติดลบ 41% ส่วนหนึ่งมาจากการมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้สาขาในห้างสรรพสินค้าปิดชั่วคราว เข่นเดียวกับยอดธุรกรรมผ่านช่องทางเอทีเอ็มลดลงติดลบ 18% แต่จะเห็นการทำธุรกรรมถอนเงินเอทีเอ็มขยายตัวอยู่ที่ 4% 

ด้าน 2.นโยบายการให้สินเชื่อ (Credit Policy) ของธนาคารจะเปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการทบทวนเครดิตมากขึ้น เช่น ธุรกิจเดิมที่น่าสนใจอาจจะไม่น่าสนใจอีก และ 3.ทำให้ธนาคารจะต้องใช้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น (Data Analytic) เพื่อประเมินลูกค้าผ่านการพัฒนาเครดิตสกอริ่ง หรือการตรวจจับเรื่องทุจริต (Fraud) และ 4.การเปิดความร่วมมือกับพันธมิตร (Open Banking Service) และ 5.แต่ละหน่วยพึงพาตนเอง (Self-Reliance) 

“แบงก์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น สำหรับกสิกรไทยจะเน้นการเพิ่มอำนาจให้กับลูกค้า และเข้าถึงลูกค้าทุกคน แม้แต่กลุ่มที่เราไม่เคยช่วนเหลือ โดยเราต้องเป็นสื่อที่ส่งการช่วยเหลือไปให้กับลูกค้าผ่านมาตรการต่างๆ ของธนาคารและที่ภาครัฐผลักดัน”

นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากเกิด New Normal ครั้งที่ 2 ธนาคารจะต้องปฏิรูป (Reform) และ ReImaging โดยการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เพื่อลดต้นทุนการให้บริการ เพราะการหารายได้ในยุคโควิด-19 ทำได้ยากขึ้น ธนาคารจึงจำเป็นต้องมีข้อมูล (Data) เนื่องจากในช่วงที่ลูกค้าลำบากสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาเก็บเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาต่อไปได้ และเรื่อง Human Resource จำเป็นต้องเพิ่มทักษะ (Re-Skill) โดยต้องระบุว่าในอนาคตของทักษะเป็นอย่างไร และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการ

“ในระยะยาว นอกจากทำธุรกิจแล้วภายใต้ 2 ใบอนุญาต (License) คือ 1.Banking License และ Social License ซึ่งนอกจากธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว เราจะต้องไม่เป็นภาระสังคม เพราะใบอนุญาต Social License ย่อมมีวันหมดอายุ ดังนั้น อย่าทำให้ Crisis ดีๆ ทำให้การเรียนรู้ดีๆ หายไป” 

สำหรับการปรับตัว มองว่า หากเป็นนักลงทุน (Investor) ตอนนี้อย่าเพิ่งลงทุนอะไรที่มีความเสี่ยง หรือลงตาม Risk Profile แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ Cash is King ส่วนผู้นำ (Leader) จะต้องดูแลความปลอดภัยของทีมงานเป็นสำคัญ ต้องสื่อสารให้ดี ไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แม้ว่าจะมีการทำงานที่บ้านแต่ต้องไม่ให้พนักงานรู้สึกว่าสามารถถูกเลิกจ้างได้ ส่วน Business Owner จะต้องมองไกล โดยต้องรู้ว่าการมีของบริษัทเพื่ออะไร เพื่อลูกค้า บริษัท และประเทศ และท้ายที่สุด พนักงาน (Employee) จะต้องปรับตัวไม่นั่งรอว่าวันดีๆ เหมือนในอดีตจะกลับมา จะต้องปรับให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป 

“เราเชื่อว่าทุกคนจะสามารถผ่านไปได้ เพราะเราได้ประโยชน์จากทุก Crisis เพราะเราสามารถนำดาต้าลูกค้าที่ดีและลำบากมาทำเครดิตสกอริ่งใหม่ได้”