บิ๊กธุรกิจดิ้นแห่เพิ่มทุน “ไมเนอร์” แบกหนี้ 2.8 แสนล้าน

ตลาดหุ้นไทย

บจ.ตลาดหุ้นเร่งปรับโครงสร้างการเงิน หลังพิษโควิด-19 ทุบรายได้วูบ เจอกับดัก “หนี้สินต่อทุน” พุ่งสูง แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ เผยกว่า 20 บริษัทพาเหรดขอเพิ่มทุน เป็นถังออกซิเจนต่อลมหายใจประคองธุรกิจ วงการจับตา “ไมเนอร์ฯ” ยักษ์ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร หนี้ท่วม 2.8 แสนล้าน หลังใช้เงินเกือบแสนล้านเทกโอเวอร์ “เอ็นเอชโฮเทล กรุ๊ป” ของสเปน เร่งขอเพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง-จ่ายหนี้ วงในเผยแบงก์กรุงเทพเจ้าหนี้ใหญ่นั่งไม่ติด เปิดประตูเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

บจ.ตลาดหุ้นแห่ขอเพิ่มทุน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศเพิ่มทุนรวมประมาณ 20 บริษัท โดยบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.แสนสิริ (SIRI) ฯลฯ โดยส่วนหนึ่งเป็นการขออนุมัติกรอบการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเพิ่มทุนในอนาคต ถือเป็นการปรับโครงสร้างทางการเงินในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ทำให้รายได้มีปัญหา สะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ที่เพิ่มสูงขึ้น จากสิ้นไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 1.27 เท่า เพิ่มเป็น 1.53 เท่าณ สิ้นไตรมาส 1/2563

โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาของตลาดทุน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มทุนก็คือ MINT ซึ่งบริษัทระบุว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุนของบริษัท และเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่สูงถึง 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของ MINT อยู่ที่ 1.6 เท่า

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ยอมรับว่าดีลการเพิ่มทุนของ บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในแง่กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมถึงต้นทุนการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของบริษัท จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้ฐานะการเงินดูแข็งแกร่ง

หนี้สิน : ทุนไม่ควรเกิน 1.5 เท่า

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า แม้ว่าจะมีธุรกิจใหญ่บางบริษัทมีปัญหา D/E สูง ซึ่งสัดส่วน D/E ของบริษัทที่ดี (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ควรจะไม่เกิน 1.5 เท่า จึงจะปลอดภัย ซึ่งบริษัทใน SET100 มีสัดส่วน D/E เฉลี่ยราว 0.7-0.8 เท่า เรียกว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล

“แม้การเพิ่มทุนจะมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เหมือนการกู้ยืมเงินธนาคาร แต่ก็ตามมาด้วยข้อผูกพันที่ต้องจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการเพิ่มทุนสูงกว่าการกู้เงิน แต่ในภาวะไม่ปกติ บริษัทมักจะเลือกเพิ่มทุน เนื่องจากเจ้าหนี้ต่าง ๆ มีความระมัดระวังในการปล่อยหนี้มากขึ้น ขณะที่การระดมทุนผ่านหุ้นกู้ตอนนี้ก็อาจไม่ใช่จังหวะที่ดี” นายชัยพรกล่าว

เกมลดหนี้-ตุนกระแสเงินสด

ขณะที่นางสาวสุวภา เจริญยิ่ง อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากวิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลให้แต่ละธุรกิจจำเป็นต้องสำรวจตนเองและหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถยืนระยะให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ โดยในขาของรายได้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกบริษัท ดังนั้น บริษัทที่สามารถควบคุมขาของต้นทุนได้ดี จะมีโอกาสประคับประคองธุรกิจได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม พบว่าหลาย ๆ บริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ภาระต้นทุนสูง ส่งผลกระทบต่อการเงินเร็วกว่าบริษัทขนาดเล็ก อีกทั้งไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เท่าทันกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำเป็นต้องหากระแสเงินสดเข้ามาใช้หมุนเวียนในกิจการ อาทิ กู้ยืมเงินจากธนาคาร และการออกหุ้นกู้ ซึ่งส่งผลให้สัดส่วน D/E ของบริษัทปรับขึ้นสูง ดังนั้นช่วงนี้จึงเห็นบริษัทหันมาจัดการกับส่วนทุนมากขึ้นผ่านการเพิ่มทุน

“เงินเพิ่มทุน” ต่อลมหายใจ

“ต่อให้ดอกเบี้ยถูกก็ตาม ต่อให้สภาพคล่องยังมีอยู่ก็ตาม แต่กิจการก็อาจจะรับภาระหนี้สินต่อไปไม่ไหวแล้ว ซึ่งการเพิ่มทุนนอกจากจะเปรียบเสมือนถังออกซิเจน ที่ต่อเวลาหายใจให้ธุรกิจ แล้วการที่ธุรกิจสามารถคุม D/E ให้ลดลงได้ ก็ส่งผลให้โอกาสที่จะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในอนาคตเพิ่มขึ้นด้วย” นางสาวสุวภากล่าว

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนในปัจจุบันที่เห็นส่วนใหญ่จะทำในรูปแบบ right offering (RO) คือ การชวนผู้ถือหุ้นเดิมเข้ามาใส่เงินในกิจการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้เชื่อว่าจะเห็นการเพิ่มทุนอีก 2 รูปแบบมากขึ้น ได้แก่ PP (private placement) เป็นการเพิ่มทุนจากนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ในวงจำกัด และ PO (public offering) ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนจากประชาชนทั่วไป

“การทำ RO วันนี้จะมีผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งที่ไม่ยินยอม หรือยินยอมแต่ไม่ใส่เงินด้วย แต่ส่วนใหญ่บริษัทที่เลือกทำ RO ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจจะมั่นใจว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะผ่านได้จึงเลือกวิธีนี้ และหากผู้ถือหุ้นบางกลุ่มไม่ใส่เงิน ผู้ถือหุ้นเดิมอีกกลุ่มก็สามารถจองเกินสิทธิ์ที่ตัวเองมีได้ ซึ่งน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่เห็น หรือถ้าขายหุ้นเพิ่มทุนไม่หมดก็นำส่วนที่เหลือมาทำ PO เป็นต้น” นางสาวสุวภากล่าว

“MINT” เพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้าน

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วงเวลานี้หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์น่าเป็นห่วงมากที่สุด โดยเฉพาะ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารรายใหญ่ที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงถึง 1.6 เท่า ล่าสุดได้ประกาศเพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน 10,000 ล้านบาท ขายหุ้นเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาท และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ 5,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2563

“ที่ผ่านมา MINT จะเน้นกู้เงินเยอะเพื่อไปลงทุนซื้อกิจการขนาดใหญ่ แต่พอเกิดโควิด-19 รายได้ในขาธุรกิจโรงแรมก็ได้รับผลกระทบทั้งในและต่างประเทศ ส่วนรายได้จากร้านอาหารก็เจ็บหนักเหมือนกัน แต่เชื่อว่าด้วยความแข็งแกร่งของบริษัท และด้วยแบรนด์น่าจะเพิ่มทุนได้สำเร็จ ซึ่งหลังเพิ่มทุนคาดว่าจะทำให้ D/E ลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.2 เท่า ก็ถือว่าโอเค” นายวิจิตรกล่าว

ขณะที่บริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มโรงแรม อาทิ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) และ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) มีสัดส่วน D/E ที่ 1.8 และ 0.7 เท่าตามลำดับ

สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุด บมจ.แสนสิริ (SIRI) ประกาศเพิ่มทุน 4.6 พันล้านหุ้น โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า ธุรกิจอสังหาฯเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วน D/E สูงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการใช้วิธีกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อมาพัฒนาโครงการต่าง ๆ และจึงนำเงินที่ได้จากยอดขายมาหมุนเวียนในธุรกิจ ขณะที่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง

ซื้อกิจการดันหนี้พุ่ง 2.8 แสน ล.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลที่ MINT แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีหนี้สินรวม 280,279 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 111,963 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 168,316 ล้านบาท ส่งผลให้หนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.6 เท่า แต่ยังอยู่ระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของเงินกู้และหุ้นกู้ที่ระดับ 1.75 เท่า จึงจำเป็นต้องเพิ่มทุน

ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 1/2563 มีรายได้ 22,421 ล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 22% และมีผลขาดทุนสุทธิ 1,774 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 583 ล้านบาท โดยหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นมากจากการเข้าซื้อกิจการ NH Hotel Group ประเทศสเปน ที่ให้บริการโรงแรมในยุโรป อเมริกา และแอฟริกา มูลค่าประมาณ88,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มทยอยเข้าลงทุนตั้งแต่ปลายปี 2561 จนกระทั่งบริษัทกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 94% ในเอ็นเอชโฮเทลกรุ๊ป ทำให้หนี้สินของบริษัทจากสิ้นปี 2560อยู่ที่ 50,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1.27 แสนล้านบาทสิ้นปี 2561 กระทั่งสิ้นไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้เงินกู้จากธนาคารและหุ้นกู้ รวมประมาณ1.3 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการธนาคารเปิดเผยว่ากรณีของ MINT ถือว่าเป็นธุรกิจใหญ่ที่ประสบปัญหาในช่วงโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมามีการก่อหนี้ไว้สูง จึงเป็นที่ติดตามอย่างใกล้ชิดของกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหลายเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ก็ต้องออกโรงมาช่วยในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

แบงก์ช่วยขยับกรอบหนี้

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ MINT เตรียมจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติเรื่องการเพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจะอนุมัติเพิ่มทุนเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินในช่วงโควิด-19

“กรณีของ MINT ถือว่าเริ่มปรับโครงสร้างทางการเงินได้เร็วเมื่อเทียบกับอื่น ๆ และเราก็เชื่อว่าบริษัทจะเพิ่มทุนสำเร็จด้วย ทั้งจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่พร้อมใส่เงิน รวมถึงตัวบริษัทเองก็ประกาศชัดเจนว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มทุนครั้งเดียว”

นายณัฐพลกล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาวะที่รายได้บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤต ธนาคารเจ้าหนี้จะขยับกรอบสัญญากู้เงินเป็นแนวทางแรก ๆ รวมถึงจะเข้ามาช่วงปรับโครงสร้างหนี้และอัดฉีดสภาพคล่องผ่านสินเชื่อใหม่ให้ในระยะถัดไป ซึ่งการเพิ่มทุนของบริษัทจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้บริษัทสามารถก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

“ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การกู้เงินจากสถาบันการเงินก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่หากบริษัทประเมินเผื่อความเสี่ยงในอนาคตที่โควิด-19 อาจระบาดระลอกสอง หรือความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น การเลือกมาเพิ่มทุนก็เป็นวิธีที่ดีกว่า” นายณัฐพลกล่าว

เปิด 10 ผู้ถือหุ้นใหญ่

ขณะที่นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม MINT กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/63 ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ถือหุ้นใหญ่ในการจัดหาเงินทุนในครั้งนี้ และจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นกลับลงมาอยู่ที่ 1.3 เท่า ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ธุรกรรมเพิ่มทุนอื่น ๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงระหว่างปี 2563-2565

สำหรับ 10 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไมเนอร์ฯ ประกอบด้วย 1.บริษัท ไมเนอร์ โฮลดิ้ง (ไทย) จำกัด 2.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 3.นายนิติ โอสถานุเคราะห์ 4.UBS AG SINGAPORE BRANCH 5.RAFFLES NOMINEES (PTE) LIMITED 6.CREDIT SUISSE AG, SINGAPORE BRANCH 7.SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 8.นายวิลเลียม เอ็ลล์วู้ด ไฮเน็ค 9.สำนักงานประกันสังคม และ10.STATE STREET EUROPE LIMITED

ทั้งนี้ กลุ่มไมเนอร์มีโรงแรมในเครือทั้งสิ้นกว่า 530 แห่ง ภายใต้เครื่องหมายการค้าอนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, เอเลวาน่า, เอ็นเอช คอลเลคชั่น, เอ็นเอช โฮเทลส์, นาว, แมริออท, โฟร์ซีซั่นส์, เซนต์ รีจิส, เรดิสัน บลู