“สมคิด” ถกคลายล็อก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งแบงค์รัฐตั้งโรงทานแจกอาหารวันละมื้อ

สมคิด สั่งทีมเศรษฐกิจ เร่งออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว-บริโภค หวังเศรษฐกิจฟื้นช่วงไตรมาส 3-4 พร้อมอุ้มบริษัทเกรดต่ำ สั่งแบงก์รัฐตั้งโรงทานดูแลประชาชน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ทั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ได้สั่งการให้สศช. เร่งพิจารณาโครงการที่มีคุณภาพตามกรอบของการใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ที่มาจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้โครงการต่างๆ ออกมาได้ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปหล่อเลี้ยงในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการการท่องเที่ยว จะต้องออกมากระตุ้นประชาชน เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 และ 4

นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ก็จะต้องมีมาตรการออกมากระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 3 ด้วย เพื่อสอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ได้มีการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี เรื่องการคลายล็อกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประครองเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งหวังว่าช่วงต้นปี 2564 เศรษฐกิจจะดีขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก

พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปพิจารณาหาแนวทางในการให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนตาม พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ของธปท. ได้ง่ายขึ้น รวมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือเอกชน ด้วยการให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณากลไก การบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ให้เข้าถึงแหล่งทุนโดยเร็ว หลังจากผ่านการเห็นชอบกรอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว โดยการช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องผ่านระบบธนาคาร เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่รอดให้ได้

“การดูแลตราสารหนี้เอกชน 4 แสนล้านบาทนั้น มีบางบริษัทเข้าไม่ถึง เพราะมีการใช้เรตติ้งบริษัทเขามาเป็นเกณฑ์ช่วยเหลือ ซึ่งในสภาวะไม่ปกติ การเอาเรตติ้งมาใช้ไม่ได้เป็นการช่วยภาคธุรกิจ ดังนั้นฝากให้ทั้ง 3 หน่วยงานช่วยดูแลตรงนี้ โดยเฉพาะในบริษัทที่มีเรตติ้งต่ำกว่ามาตรฐานการลงทุน (Investment Grade) จะมีแนวทางไปช่วยอย่างไร ซึ่งก.ล.ต.เสนอแนวคิดตั้งกองทุนขึ้นมาช่วย และต้องมีการลงขัน โดยขอให้คลังมีมาตรการภาษีเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ซึ่งรัฐบาลาพยายามปิดช่องโหว่ในส่วนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งบุคคลธรรมดา ภาคธุรกิจ ขนาดเล็ก กลาง ทั้งหมด”นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ยังได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลัง ไปหารือกับกองทุนประกันสังคม เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกันตนให้ครบถ้วน เพิ่มเติมจากมาตรการเยียวยาที่ผ่านมาที่ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว พร้อมทั้งสั่งการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมภาษี ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร หามาตรการภาษีในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 โดยเฉพาะการให้ผ่อนชำระภาษีรายปีเพิ่มเติมจากการเลื่อนการชำระภาษีไปในเดือนส.ค.นี้ รวมถึงการใช้มาตรการภาษีลดค่าใช้จ่ายให้กับร้านค้าที่เปิดร้านแต่ไม่มีรายได้เข้ามา เนื่องจากประชาชนไม่ซื้อสินค้าในช่วงนี้ด้วย

ทั้งนี้ ยังได้สั่งให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แบ่งพื้นที่ในจังหวัด เพื่อทำโรงทานช่วยเหลือชาวบ้านวันละ 1 มื้อ เพราะ 3-4 เดือนข้างประชาชนจะประสบภาระหนักขึ้น ซึ่งจะช่วยดูแลเรื่องปากท้องของประชาชนได้