Inflation VS Deflation (จบ)

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก

โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

แต่ในระยะสั้นนี้ demand shock จะมีอิทธิพลมากกว่า supply shock

ถ้านึกถึงภาพอุปสงค์และอุปทานในวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน เราคงนึกถึงผลของการเคลื่อนไปทางซ้ายของเส้นอุปสงค์ที่มากกว่าผลของการเคลื่อนไปทางซ้ายของเส้นอุปทาน

ระยะกลางหรือปีหน้าเป็นต้นไป เมื่อการระบาดโควิด-19 เริ่มนิ่งขึ้น วัคซีนและยาต้านไวรัสทยอยแจกจ่ายไปทั่วโลก ตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เส้นอุปสงค์จากหดตัว จะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นหรือย้ายไปทางขวาแต่เส้นอุปทานอาจจะเพิ่มกลับมาต่ำกว่าการเพิ่มของอุปสงค์จากผลของโควิดที่ยังทิ้งผลกระทบไว้กับภาคการผลิตทั่วโลกทำให้ผลผลิตสินค้าและบริการมีจำกัดขณะที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนที่ต่อเนื่องจากสงครามการค้า ความกลัวไวรัสทำให้จากนี้ไปจนถึง 5 ปีข้างหน้า ภาวะโลกาภิวัตน์น่าจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกจำต้องนำสมมุติฐานผลกระทบโควิด เข้ามาในการตัดสินใจของบรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งแรงกดดันจากรัฐบาลประเทศของบรรษัทข้ามชาติเหล่านั้นที่จะกระตุ้น สนับสนุนให้บรรษัทข้ามชาติสัญชาติตนย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับประเทศในนามความมั่นคงแห่งชาติ การจ้างงานและอื่น ๆ เพราะวิกฤตจากโควิด ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศโดยเฉพาะตะวันตก ขาดแคลนสินค้าจำเป็นจนเป็นเหตุหนึ่งให้พลเมืองประเทศตนเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะก่อนการระบาด สินค้าจำเป็นจำนวนมากนำเข้าจากทั่วโลก เมื่อมีการปิดเมือง ห้ามเดินทางทางอากาศและบกทั่วโลกกระทบการลำเลียงชิ้นส่วนการผลิตสำคัญจำนวนมากของสินค้าทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อการวางแผนการผลิตของบรรษัทข้ามชาติ ในการผลิตสินค้าและบริการออกมาตอบสนองสถานการณ์เร่งด่วน ทำให้ในอนาคตการย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับประเทศและเหตุอื่น ๆ ในข้างต้นจะหนุนเงินเฟ้อให้ทยอยเพิ่มขึ้น

ประการสำคัญ ปรากฏการณ์เงินเฟ้อโดยมากจะมาจากปริมาณเงินในระบบที่มากกว่าความต้องการถือเงิน การที่รัฐบาลและธนาคารประเทศต่าง ๆ ใช้นโยบายการคลัง นโยบาย QE และนโยบายการเงินที่สนับสนุนการให้สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ (lending scheme) มีผลให้สภาพคล่องจำนวนมากเริ่มเข้าสู่ตลาดการเงิน ดังจะเห็นจากขนาดของงบดุลธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ต้น มี.ค. 63 อยู่ประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์มาอยู่ระดับ 7 ล้านล้านดอลลาร์ในต้นเดือน พ.ค. 63

ควบคู่กันไปคือรายได้ภาษีอากรที่คาดว่าจะต่ำต่อเนื่องหลายปี แต่รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนแทบจะเรียกได้ว่าถ้าอัตราเงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้น ระดับหนี้สินสาธารณะที่แท้จริง จะไม่มีทางลดลงได้ใน 10 ปีจากนี้ไปจนกลายเป็นวิกฤตทางการคลังต่อเนื่องแทน ถ้ารัฐบาลต้องการให้หนี้สาธารณะลดลง จำเป็นที่เงินเฟ้อในประเทศจะต้องเร่งตัวเพิ่มขึ้น ในส่วนของธนาคารกลางเอง การรับมือและแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อดีกว่าแก้ปัญหาเงินฝืดและการทำให้เงินเฟ้อ (อย่างอ่อน) กลับมาเป็นเป้าประสงค์ของทุกธนาคารกลางทั่วโลก

ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น เร่งตัวสูงขึ้นมากแต่เศรษฐกิจยังชะลอตัว (stagflation) การลงทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว รวมทั้งหุ้นจะได้รับผลกระทบเชิงลบค่อนข้างมาก แม้ว่าตอนนี้เงินเฟ้อไม่มีทางเกิดขึ้น แต่ในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า ความเสี่ยงเงินเฟ้อจะสูงขึ้นกว่าอดีตและคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

อ่าน Inflation VS Deflation (1)