Inflation VS Deflation (1)

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก
โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

โควิด-19 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลทางเศรษฐกิจและสังคมระดับ 100 ปี จะมีเหตุการณ์นี้อุบัติสักครั้งมีประเด็นน่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การถกกันในส่วนของผู้ทำงานสายลงทุนทั่วโลกรวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักคิดจำนวนมาก ผมเองได้ร่วมติดตามประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ผ่านสื่อมวลชนชั้นนำของโลกทั้งอ่าน ฟัง และคิดตามไปด้วย มีทั้งเห็นต่าง เห็นด้วย และคิดต่อยอดบนความเข้าใจส่วนตัวและทยอยเลือกประเด็นน่าสนใจเสนอในคอลัมน์นี้ ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ผมสังกัด

ประเด็นเรื่องแนวโน้มเงินฝืดและเงินเฟ้อ อย่างไหนจะเกิดขึ้นกันแน่ ส่วนใหญ่มองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ผมคิดว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะเงินฝืดแน่นอน แต่สำหรับเงินเฟ้อซึ่งส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ผมกลับคิดว่าเราไม่ควรประมาทและเราควรจับตาสถานการณ์แนวโน้มเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด แม้ว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อต่ำมาจากความก้าวหน้าของระบบโลกาภิวัตน์ (globalization) การเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกของประเทศเกิดใหม่จำนวนมากที่โดดเด่นคือ จีน ระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิต (global supply chain) ที่อาศัยเทคโนโลยีทันสมัยโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) กระจายฐานการผลิตไปทั่วโลกเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดรวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตที่มีเครื่องจักร หุ่นยนต์ที่ทันสมัยและเทคโนโลยีพลังงานที่ประหยัดการใช้น้ำมัน (จากผลของวิกฤตน้ำมันทั้ง 2 ครั้งเมื่อ 30 กว่าปีก่อน) รวมทั้งพลังงานทางเลือกตลอดจนนโยบายการเงินที่ดีสร้างการคาดการณ์ที่น่าเชื่อถือต่อหน่วยเศรษฐกิจและผู้เกี่ยวข้องในตลาดการเงิน ผนวกกับโครงสร้างอายุประชากรโลกในหลายประเทศที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุทำให้ระดับการบริโภคมีแนวโน้มลง จนทำให้ใน 30 ปีมานี้ เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงทำให้การลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าที่คาดมาก

ผลกระทบในระยะสั้นจากสถานการณ์โควิด-19 คือ ผลกระทบด้านอุปสงค์ (demand shock) คนจำนวนมากทั่วโลกตกงาน กำลังซื้อหายจากระบบอย่างฉับพลัน แม้ว่าด้านอุปทานจะได้รับผลกระทบก็ตาม (supply shock) จากสินค้าและบริการจำนวนมากหายไปในทันที บริษัทจำนวนมากล้มละลายและอีกจำนวนมากกำลังจะล้มละลาย ในอนาคตด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้การผลิตสินค้าและบริการไม่สามารถนำเสนอในปริมาณเท่ากับก่อนการระบาดได้ (จนกว่าทั้งโลกจะได้รับวัคซีนในระดับที่มากพอจนไม่กังวลโควิด-19 และลดมาตรการป้องกันลง)