“กรุงศรี-KTC” สเปนดิ้งฟื้น อานิสงส์คลายล็อกดาวน์

“กรุงศรี-เคทีซี” เผยยอดรูดบัตรเครดิต พ.ค.-มิ.ย. กระเตื้องหลังคลายล็อกดาวน์ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” คาดสเปนดิ้งทั้งปีติดลบน้อยลงเหลือ 10-15% จากเดิมคาดลบหนัก 20-30% ส่วน “เคทีซี”ชี้ยอดใช้จ่ายเดือน มิ.ย.เริ่มหดตัวลดลง รับมาตรการ ธปท.เฟส 2 กดดันรายได้ดอกเบี้ย ส่อดันยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง

ฐากร ปิยะพันธ์

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงกลางเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกรุงศรี (สเปนดิ้ง) มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่เจอผลกระทบโควิด-19 แต่ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดการใช้จ่ายที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี เช่น หมวดท่องเที่ยวและโรงแรม จากเดิมที่คิดว่าไม่น่าจะกลับมาได้เร็ว แต่ปรากฏว่ากลับมาดีขึ้น และหมวดห้างสรรพสินค้าที่ส่วนหนึ่งมาจากแคมเปญและโปรโมชั่นที่หนุนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากบรรยากาศและยอดใช้จ่ายที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะทำให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรช่วงไตรมาส 2 ดีขึ้นกว่าเดิมที่เคยคาดว่ายอดใช้จ่ายจะหายไปประมาณ 50% ส่วนไตรมาส 3 และ 4 คาดว่ายอดใช้จ่ายจะลดลงราว 30% ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรรวมทั้งปีน่าจะติดลบ10-15% หรือคิดเป็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่หายไปจากระบบประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ถือว่าลดลงจากเดิมที่คาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งปีจะติดลบ 20-30%

“การจับจ่ายกลับมาดีกว่าคาด แต่มีอีกตัวแปรหนึ่งที่ต้องติดตาม คือ การเดินทางต่างประเทศที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งหมด หมวดนี้อาจจะหายไป เพราะในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ของทุกปีเป็นช่วงที่หมวดเดินทางต่างประเทศจะมีการใช้จ่ายที่เติบโตดี แต่ยังโชคดีที่หมวดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารทยอยกลับมา ดังนั้น สิ่งที่เราจะเน้นหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของหมวดออนไลน์ ผ่อนชำระที่เลือกเป็นหมวด ๆ ส่วนกดเงินสดจะไม่เน้น” นายฐากรกล่าว

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจบัตรเครดิตจะเห็นว่ามีความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน และความเสี่ยงจากนโยบายของทางการ เช่น กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ลงมา ดังนั้นหากมีความเสี่ยงสูงกว่าผลตอบแทน จะเห็นสัดส่วนการปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) ปรับสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทจะใช้วิธีการคัดกรองที่เข้มข้นขึ้น และหากคุณสมบัติไม่ผ่านอาจจะไม่ได้รับการพิจารณาสินเชื่อ

โดยบัตรเครดิตของเคทีซีพบว่า ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง และมีการล็อกดาวน์กิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ไม่มีร้านค้าที่ใช้บัตร ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรหดตัวลง 40% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าทั้งอุตสาหกรรมที่ยอดการใช้จ่ายหดตัวสูงถึง50% อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่เดือน พ.ค.เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ดีขึ้นหลังมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์บางส่วนส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรของเคทีซีเหลือติดลบเพียง 25% และคาดว่าเดือน มิ.ย.จะติดลบน้อยลงไปอีก เนื่องจากคนเริ่มกลัวน้อยลง และกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้ว ทำให้ยอดการใช้จ่ายในบางหมวดปรับดีขึ้น

“ยอดการใช้จ่ายกลับมาได้เร็วกว่าที่เราประเมินไว้ แม้ช่วงคลายล็อกดาวน์แรก ๆ คนยังกลัวอยู่ แต่ตอนนี้คนกลับมาเดินห้างปกติ แต่เราขอเวลาประเมินสถานการณ์อีก 1-2 เดือน ส่วนไตรมาส 2 เชื่อว่าเรายังมีกำไร แต่หลังจากนี้จะมีผลเรื่องที่ ธปท.ออกมาตรการ ซึ่งอาจจะกดดันรายได้ดอกเบี้ย และทำให้ยอดรีเจ็กต์สูงขึ้นหรือลดลงก็ได้ เพราะเราใช้วิธีพูดตรง ๆ กับลูกค้า หากดูแล้วไม่ผ่านก็อาจจะไม่ต้องกรอกใบสมัคร จากปัจจุบันมียอดสมัครเข้ามาหลายหมื่นรายต่อเดือน เราเชื่อว่าบัตรเครดิตยังโต แต่เราจะโตแบบระมัดระวัง เพราะผลตอบแทนน้อย ไม่รับกับความเสี่ยงสูง”