KTC ตั้งรับนโยบายลดดอกเบี้ย รับสภาพรายได้หด อุ้มลูกค้าฝ่าโควิด

ระเฑียร ศรีมงคล
สัมภาษณ์

ธุรกิจบัตรเครดิตต้องเผชิญปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง นอกจากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว ปีนี้ยังมีวิกฤตโควิด-19 ที่กระทบทั้งในแง่การเติบโตของพอร์ตลูกค้า และยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร ล่าสุดยังมีปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระยะที่ 2 โดย “ระเฑียร ศรีมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “บมจ.บัตรกรุงไทย” (เคทีซี) ได้สะท้อนภาพผลกระทบ รวมถึงฉายภาพการเตรียมพร้อมธุรกิจหลังวิกฤตผ่านพ้นไป ภายใต้บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม (new normal)

ลดดอกเบี้ยอุ้มลูกหนี้กระทบรายได้

“ระเฑียร” ประเมินว่า ในไตรมาส 2 บริษัทจะยังทำกำไรได้ แต่ก็คงเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ ส่วนจะมองไปถึงไตรมาส 3-4 อาจจะยังประเมินยาก เนื่องจากมีผลกระทบจากมาตรการลดดอกเบี้ยของ ธปท.เพิ่มเข้ามา ซึ่งกระทบต่อรายได้แน่นอน อย่างไรก็ดี เคทีซีก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่ก็มองว่าการลดดอกเบี้ย ก็เหมือนการอัดฉีดสภาพคล่องให้ลูกหนี้อยู่ได้เพียงชั่วคราว แต่ในระยะยาวอาจจะต้องกลับมาดูพื้นฐานของลูกหนี้ว่าจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ คงไม่สามารถมองแค่เรื่องการไม่ต้องชำระหนี้และไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งการใช้มาตรการลักษณะดังกล่าวก็ต้องระวัง เพราะอาจจะเกิด moral hazard หรือจงใจผิดนัดชำระหนี้ได้

“ธปท.สั่งเราก็ต้องทำ แต่มันเหมือนการอัดฉีดสภาพคล่องให้ลูกหนี้อยู่ได้ คล้าย ๆ การบินไทย สมมุติว่าถ้าไม่เข้าแผนฟื้นฟู แต่เอาเงินให้ไป 5 หมื่นล้านบาท เขาก็อยู่ได้ แต่ไม่กำไร และถ้าขาดทุนเรื่อย ๆ ก็หมด พอหมดก็อัดเงินเข้าไปอีก ในระยะยาวจะไปได้อย่างไร ก็แบบเดียวกัน ดังนั้นจึงควรต้องมาดูพื้นฐานของลูกหนี้ว่าจ่ายได้ หรือจ่ายไม่ได้ก่อน อย่างไรก็ดี ธุรกิจบัตรเครดิตถ้ามีความเสี่ยงสูงกว่าผลตอบแทน ต่อไปน่าจะเห็นสัดส่วนการปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) ปรับสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทจะใช้วิธีการคัดกรองที่เข้มข้นขึ้น”

ทั้งนี้ การดูแลลูกค้ารายย่อย บริษัทยังคงยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และจะไม่ใช้วิธีการระงับการใช้บัตรหรือตัดวงเงิน แม้จะเป็นช่วงวิกฤตโควิด ที่มีผู้ถือบัตรเคทีซีต้องหยุดงาน หรือถูกเลิกจ้างก็ตาม

“คงไม่ได้โหดร้ายเหมือนกับช่วงวิกฤตปี 2540 ที่เห็นแบงก์ต่างชาติตัดวงเงินบัตร ซึ่งบางทีการยอมรับความเสี่ยงอาจทำให้ความเสียหายน้อยกว่าการระงับไปเลยก็ได้ เพราะลูกค้าบางคนถือบัตรเรามานาน และเชื่อว่าลูกค้าบางคนยังมีศักยภาพที่จะหางานใหม่และสามารถชำระเงินได้ตามปกติ”

โดยที่ผ่านมา เคทีซีจะพิจารณาลูกค้าแต่ละรายว่าสามารถชำระคืนได้หรือไม่ เช่น หากทำงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่างธุรกิจโรงแรม ก็ต้องดู หากเป็นโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวคนไทย รายได้ก็น่าจะกลับมาได้ ดังนั้นก็จะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาชำระให้ แต่หากเป็นกลุ่มที่ต่อให้มีการจ่ายขั้นต่ำ และยืดเวลาชำระให้ ก็ยังไม่สามารถชำระได้ ก็ต้องจัดชั้นเป็นหนี้เอ็นพีแอลทันที ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ไปกว่า 3,000 ราย และมีกลุ่มที่พักชำระหนี้แค่กว่า 100 รายเท่านั้น คิดเป็นวงเงินผ่อนผันราว 1% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด จากฐานลูกค้า 3 ล้านบัญชี

โควิดดันตั้งสำรองหนี้พุ่ง 600 ล้าน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา “ระเฑียร” บอกว่า เคทีซีต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น อย่างในเดือน เม.ย. ตั้งเพิ่มเป็น 600 ล้านบาท จากช่วงปกติที่สำรองเฉลี่ยประมาณ 500 ล้านบาท ขณะที่ในเดือน พ.ค. การตั้งสำรองก็ยังอยู่ในระดับสูง แต่อาจจะลดลงเดือน เม.ย.เพราะสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ส่วนภาพรวม
ทั้งปียังไม่สามารถประเมินได้ว่า จะต้องตั้งสำรองเท่าใด

“ขนาดเรามีฝ่ายติดตามทวงถามหนี้ที่แข็งแกร่งที่สุดในระบบแล้ว ยังเห็นการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล และการตั้งสำรอง ดังนั้นจึงต้องประเมินสถานการณ์ทุกวันซึ่งวิกฤตครั้งนี้หนักหนากว่าวิกฤตปี 2540 และทุกคนได้รับผลกระทบทั้งภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน โดยหลังจากนี้ก็ต้องดูว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้แค่ไหน และต้องดูความเสี่ยงจากนโยบายต่าง ๆ ด้วย”

เล็งเทกโอเวอร์กิจการหลังโควิด

ส่วนแนวโน้มหลังโควิด “ระเฑียร” ประเมินว่า ภาพการทำธุรกิจบัตรเครดิตจะเปลี่ยนไปแน่นอน เพราะคนใช้จ่ายระมัดระวังขึ้น รวมถึงกลัวเสียชีวิต และกลัวการเจ็บป่วย ขณะที่ธุรกิจใหญ่จะแข็งแกร่ง ส่วนธุรกิจรายกลางและรายเล็กจะหายไปมากขึ้นเพราะแข่งขันไม่ได้ จากการที่ต้องเข้มงวดเรื่องต้นทุนเพื่อกระชับรายจ่าย ถือเป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปซื้อบริษัทเล็ก ๆ เพราะเชื่อว่าต้องมีคนออกจากธุรกิจนี้แน่นอน เพราะทำต่อไม่ได้ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ หาโมเดลธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องคิดว่าจะไปทำรูปแบบไหนที่จะทำให้บริษัทอยู่ได้ในระยะยาวและมีความยั่งยืน

“เรามองตลอดเวลา มองทุกวัน ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเจอเนื้อคู่หรือยัง โมเดลธุรกิจจะเปลี่ยนไปตามภาวะที่เกิดขึ้น อย่างวันนี้เราก็ตั้งธุรกิจใหม่ทั้งพิโก-นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อทะเบียนรถ ซึ่งรายได้ยังเล็กมาก แต่คงโตขึ้นได้ โดยเราจะบุกสินเชื่อทะเบียนรถมากขึ้นแต่ช่วงนี้ยอมรับว่าเราปฏิเสธลูกค้าเยอะมาก เพราะไม่ต้องการแค่พอร์ตโต แต่จะดูความเสี่ยงด้วยว่าสูงกว่าผลตอบแทนที่ควรจะได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันเราปล่อยกู้สูงสุดอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อเดือน”

เหล่านี้เป็นภาพผลกระทบ และสิ่งที่เคทีซีพยายามปรับตัวไปสู่ธุรกิจใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนขึ้นหลังวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป