แบงค์ชาติ ปลื้ม “ทางด่วนแก้หนี้” เชื่อมเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ตกลงกันได้ 70%

ธปท. ปลื้ม “ทางด่วนแก้หนี้” เชื่อม “เจ้าหนี้-ลูกหนี้” ตกลงหากันได้กว่า 70% จากคำขอแก้หนี้ราว 1 หมื่นรายการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความที่เขียนโดยนายคมน์ ไทรงาม ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ถึงเรื่อง “ทางด่วนแก้หนี้” โดยระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 19 (COVID-19) ตลอดจนผลของมาตรการ Lock down ทำให้รายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจปรับลดลงอย่างมาก การฟื้นตัวในระยะเวลาข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนสูง มองไปข้างหน้าการที่สถาบันการเงินและลูกค้าสามารถตกลงร่วมกันเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยแบงก์ชาติสนับสนุนให้สถาบันการเงินแต่ละรายดูแลลูกค้าอย่างสุดความสามารถ และได้ประกาศมาตรฐานขั้นต่ำในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อแต่ละประเภท ซึ่งสถาบันการเงินสามารถช่วยมากกว่าขั้นต่ำตามกำลังความสามารถของแต่ละแห่ง

เมื่อเดือนเมษายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิด “ทางด่วนแก้หนี้” ขึ้นภายใต้ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ประชาชนหรือธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สามารถแจ้งเหตุผลความจำเป็นและความช่วยเหลือที่ต้องการไปยังสถาบันการเงินเจ้าหนี้ โดยเป็นช่องทางเสริมที่สามารถ “รับเรื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง” เพื่อรองรับ (1) มาตรการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถติดต่อสถาบันการเงินได้สะดวกนัก หรือติดต่อไม่ได้เนื่องจากมีลูกค้าที่ต้องการติดต่อเป็นจำนวนมาก และ (2) ลูกหนี้ติดต่อสถาบันการเงินแล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ เช่น คุณสมบัติไม่ผ่าน หรือเห็นว่าข้อเสนอความช่วยเหลือยังไม่ช่วยให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับผ่านทางด่วนแก้หนี้ ธปท. จะนำส่งต่อไปยังสถาบันการเงินที่ลูกค้าระบุไว้หรือหน่วยงานกลาง พิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

ในช่วงเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ทางด่วนแก้หนี้ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการจัดส่งคำขอแก้หนี้จากประชาชนไปยังสถาบันการเงินที่อยู่ในการกำกับดูแลของ ธปท. คือ ธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ non-bank และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งต่อมาได้ขยายความร่วมมือกับเจ้าหนี้ที่อยู่นอกการกำกับดูแลบางรายเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง สหกรณ์ออมทรัพย์และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทำให้ปัจจุบันมีเจ้าหนี้ที่สามารถประสานงานส่งคำขอได้มากกว่า 50 แห่ง มีส่วนในการลดภาระหนี้ ลดความกังวลใจให้แก่ประชาชนในวงกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะสำหรับลูกค้าผลิตภัณฑ์เช่าซื้อ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

ภาพรวมคำขอแก้หนี้ที่ได้รับผ่านทางด่วนแก้หนี้นับจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 มีจำนวน 10,101 รายการ ซึ่งถูกส่งไปยังธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทิสโก้ มากที่สุด 5 อันดับแรก และมีคำขอสำหรับเจ้าหนี้ที่อยู่นอกการกำกับดูแลของ ธปท. ประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้ จากการติดตามผลพบว่า คำขอที่ทางด่วนแก้หนี้ได้ส่งไปยังเจ้าหนี้ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ ธปท. มีสถานะดำเนินการเสร็จสิ้นร้อยละ 79 ในจำนวนนี้ลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถตกลงกันได้ข้อสรุปประมาณร้อยละ 70 ซึ่งในระยะต่อไป ศคง. จะทำการเปิดเผยสถิติคำขอและผลสำเร็จเป็นรายสถาบันการเงินด้วย

หากแบ่งคำขอตามประเภทสินเชื่อ พบว่าส่วนใหญ่เป็นคำขอเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลรวมบัตรกดเงินสด (ร้อยละ 34) สินเชื่อเช่าซื้อ (ร้อยละ 25) และสินเชื่อบัตรเครดิต (ร้อยละ 20) ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่ามาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำในเฟสแรกสำหรับสินเชื่อเหล่านี้อาจจะยังไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งเพราะอัตราดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างสูง อีกทั้งมีเสียงสะท้อนจากประชาชนที่เดือดร้อนว่า เจ้าหนี้บางรายกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาให้ความช่วยเหลือภายในเพิ่มเติม เช่น หากมียอดค้างชำระอยู่ก่อนก็ต้องจ่ายชำระยอดที่ค้างก่อนถึงจะสามารถใช้มาตรการช่วยเหลือได้ รวมทั้งการพิจารณาให้ความช่วยเหลือจะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ทำให้กระบวนการล่าช้าไม่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีศักยภาพได้ทันเวลา จนลูกหนี้ส่วนหนึ่งผิดนัดชำระหรือกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้ทางด่วนแก้หนี้ได้รับคำขอเข้ามาเป็นจำนวนมาก แม้ว่าได้มีการประกาศมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำลูกหนี้รายย่อยในเฟสแรกไปแล้วก็ตาม

บทเรียนจากมาตรการในเฟสแรกนำมาสู่การปรับปรุงมาตรการความช่วยเหลือในระยะที่ 2 ในหลายมิติ เช่น (1) การปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลลง 2-4% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้ประชาชนในวงกว้าง (2) มาตรการในระยะที่ 2 จะยึดความต้องการของลูกหนี้เป็นที่ตั้ง ลูกหนี้เป็นผู้เลือกเข้าร่วมมาตรการที่ตรงกับความสามารถของตน โดยผู้ให้บริการฯ จะต้องยื่นข้อเสนอตามที่กำหนดไว้ในมาตรการพื้นฐานขั้นต่ำให้ลูกหนี้พิจารณา รวมทั้ง (3) การขยายขอบเขตการช่วยเหลือให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีสถานะการผ่อนจ่ายยังเป็นปกติ และที่เป็นหนี้เสียแล้ว อีกทั้งจะไม่มีการกำหนดวงเงินสินเชื่อที่จะสามารถเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือเหมือนในเฟสแรก

นอกจากนี้ หลังจากที่เปิดดำเนินการทางด่วนแก้หนี้มาราว 2 เดือน ธปท. ได้ยกระดับและปรับปรุงระบบงานเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานและส่งคำขอแก้หนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถกรอกข้อมูลได้ด้วยตนเองสามารถโทรมาที่ Call Center 1213 ของ ศคง. เพื่อปรึกษา หรือให้เจ้าหน้าที่ช่วยกรอกข้อมูลแทนได้ ทั้งนี้ ข้อมูลที่สำคัญมากคือ เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับ ควรตรวจสอบให้ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจจะทำให้ติดต่อกลับไม่ได้ หรือคำขอไม่ได้รับการพิจารณา นอกจากนี้ หลังจากยื่นคำขอแล้ว 15 วัน ลูกค้าสามารถตรวจสอบผลการพิจารณาของสถาบันการเงินที่ส่งผ่านทางด่วนแก้หนี้ได้ด้วยตนเอง โดยใช้รหัสติดตามเรื่องที่ได้รับทาง SMS หรือทางอีเมล ณ วันที่ส่งคำขอครั้งล่าสุด ควบคู่กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขทะเบียนนิติบุคคลที่ให้ไว้

ทางด่วนแก้หนี้ที่ปรับปรุงใหม่อยู่ที่เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/DebtCase ใช้งานได้ดีผ่านเว็บบราวเซอร์ Chrome, Safari และ Microsoft Edge ผู้ใช้งานสามารถศึกษาคลิปวิธีการใช้งานระบบได้จากหน้าเว็บไซต์ www.1213.or.th ส่วนการร้องเรียน แจ้งเบาะแส หรือติดต่อสอบถามเรื่องอื่น ๆ ประชาชนสามารถติดต่อผ่านช่องทางเบอร์โทร. 1213 หรืออีเมล [email protected] ตามปกติ