สรรพสามิต พร้อมใช้แสตมป์อิเล็กทรอนิกส์ปั๊มรายได้ภาษีเบียร์ 8 พันล้าน

สรรพสามิต เตรียมใช้แสตมป์อิเล็กทรอนิกส์ หนุนเก็บรายได้ภาษีเบียร์ 8 พันล้านบาท คาดใช้พร้อมกันทุกโรงงานปี’64 พร้อมปัดข่าวของบ 8 พันล้านบาท ไปตั้งพรรคการเมืองใหม่

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมจะนำระบบเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) มาเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์กระป๋องและเบียร์ขวดในโรงงานผลิตเบียร์ทั้ง 8 โรงงาน 42 สายการผลิตทั่วประเทศภายในต้นปี 2564 เพื่อทดแทนระบบการเก็บภาษีเดิมที่เก็บจากการจำนวนสินค้าออกจากหน้าโรงงาน เชื่อว่าระบบใหม่จะทำให้กรมมีรายได้จากการเก็บภาษีเบียร์เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่การใช้เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ ( Direct coding) สำหรับเบียร์ ซึ่งมีวงเงินดำเนินการ 8,000 ล้านบาทนั้น เป็นการขอกรอบวงเงินสำหรับดำเนินโครงการจากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นกรอบวงเงินที่ผูกพันการดำเนินงานในช่วง 7 ปี ส่วนการใช้จ่ายเงินจะมีการพิจารณาตามวงเงินที่ต้องจ่ายจริงเท่านั้น

“กรอบวงเงินของโครงการ มาจากการนำประมาณการตัวเลขการผลิตที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.5 พันล้านยูนิตต่อปี ซึ่งเป็นยอดผลิต 5 ปีย้อนหลังมาเป็นฐานในการคำนวณมูลค่าโครงการ จนออกมาเป็นวงเงิน 8 พันล้านบาท ซึ่งไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวการหาเงินเพื่อสนับสนุนการตั้งพรรคการเมืองใหม่แต่อย่างใด เพราะจริง ๆ โครงการนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และอุดการรั่วไหลของภาษี และโครงการก็เริ่มจากศูนย์ เริ่มจากไม่มีอะไรเลย” นายพชร กล่าว

สำหรับการเก็บภาษีด้วยระบบ Direct coding ในสินค้าเบียร์ กรมฯได้เปิดให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมประมูล เพื่อรับบริหารจัดการพิมพ์รหัสการเสียภาษีบนกระป๋องและขวดเบียร์ โดยกรมสรรพสามิตไม่ต้องลงทุนเอง หรือใช้งบประมาณจากรัฐแต่อย่างใด ขอเพียงกรอบวงเงินเท่านั้น โดยในหลักการจะแบ่งค่าดำเนินการพิมพ์บนขวดหรือกระป๋องละ 25 สตางค์แทน ซึ่งเป็นต้นทุนพอ ๆ กับที่กรมฯ พิมพ์แสตมป์เอง ที่สำคัญระบบนี้ยังได้รับการเห็นด้วยจากโรงงานผลิตเบียร์ที่พร้อมปฏิบัติตาม และระหว่างที่ใช้ระบบใหม่นี้ ก็จะมีศึกษาถึงข้อดีข้อด้อยนำไปปรับปรุงแก้ไขควบคู่กันด้วย


ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมใช้การเก็บภาษีเบียร์ที่ใช้ระบบ Flow meter สอบทาน เป็นระบบเก่าซึ่งใช้มากกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งขณะนั้นอุตสาหกรรมเบียร์ และการเก็บภาษีเบียร์ยังไม่โตขนาดนี้ โดยมีการเสียภาษีเพียงปีละ 2,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันภาษีเบียร์เพิ่มเป็น 70,000-80,000 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2560 กรมได้นำเทคโนโลยีมาช่วยเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระบบ QR Code มาใช้กับภาษีบุหรี่ และสุราไปแล้ว และหลังจากนี้จะเริ่มปรับปรุงใช้กับเบียร์ด้วย