แบงก์ชาติเร่งปั้น ‘บาทดิจิทัล’ บริการเอกชน-รายย่อย ลดต้นทุนตัวกลาง

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยความคืบหน้าสกุลเงินดิจิทัล (CBDC) ชี้ข้อดีลดต้นทุนแบงก์สำรองเงินระหว่างวัน-ลดต้นทุนตัวกลางโอนเงินข้ามประเทศ เฟสถัดไปเร่งพัฒนาโอนเงินดิจิทัลภาคเอกชน-ประชาชนทั่วไป ยอมรับ ‘ลิบรา’ พักแผน เหตุกฎหมายไม่เอื้อ

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท.ได้เริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางหรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมานั้น โดยระยะที่ 1-3 ได้เริ่มต้นพัฒนาและทดสอบการชำระเงินดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale) ไปแล้ว ขณะที่ระยะที่ 4 จะเป็นแผนการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเพื่อให้บริการภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนรายย่อยทั่วไป

ล่าสุด ในเดือน มิ.ย.63 ธปท.ประกาศความร่วมมือกัับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กับคู่ค้าของบริษัทฯ โดยคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้ อย่างไรก็ดี โครงการร่วมมือดังกล่าวจะสรุปผลอีกครั้งภายในปี 2563

ขณะที่การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเพื่อให้บริการประชาชนทั่วไปนั้น นางสาววชิรา กล่าวว่า ปััจจุบันพบว่าหลายประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเพื่อให้บริการแก่ประชาชนรายย่อยในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อาทิ เงินหยวนดิจิทัล หรือ e-krona ในประเทศสวีเดน อย่างไรก็ดี การพัฒนาสกุลเงิินดิจิทัลสำหรับรายย่อยจำเป็นต้องพิิจารณาผลกระทบให้ครบถ้วนทุกมิติ โดย ธปท.จะดำเนินการศึกษาเพื่อให้บริการรายย่อยควบคู่กันไปกับการพัฒนาเพื่อให้บริการสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ร่วมมือกับธนาคารฮ่องกง (KHMA) เพื่อพัฒนาและทดสอบระบบชำระเงินระหว่างประเทศในระดับสถาบันการเงิน โดยการหันมาใช้ CBDC จะสามารถลดต้นทุนในการใช้บริการธนาคารตัวแทนต่างประเทศ (Correspondent Bank) เพื่อทำธุรกรรมระหว่างธนาคารไทยและต่างประเทศได้

ทั้งนี้ ในการทดสอบระบบชำระเงินโดย CBDC ระหว่างสถาบันการเงินในปัจจุบันทำผ่านกระเป๋าเงิน (Wallet) แยกกับการชำระเงินผ่านช่องทางธรรมดา และยังถือเป็นการชำระเงินทางเลือกอยู่เท่านั้น โดย 1 เหรียญ CBDC จะมีมูลค่าเท่ากับ 1 บาท

“นอกจากข้อดีในการช่วยลดต้นทุนตัวกลางโอนเงิน และการเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินแล้ว จำนวนเงินสดที่ธนาคารพาณิชย์ต้องนำมาสำรองกับ ธปท.ในแต่ละวันยังลดลงอีกด้วย ยกเว้นสภาพคล่องที่ต้องสำรองตามกฎหมาย” นางสาววชิรา กล่าว

นางสาววชิรา กล่าวอีกว่า หลังจากที่หารือกับ “เฟสบุ๊ก” เกี่ยวกับสกุลเงินลิบรา (Libra) ยอมรับว่าการนำสกุลเงินลิบรามาใช้ในชีวิตประจำวันยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกฎเกณฑ์เงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนจะต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

  1. สามารถเป็นหน่วยวัดในทางบัญชี (A unit of account)
  2. สามารถเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่ส่งผ่านกันได้
  3. สามารถเก็บมูลค่า (Store of Value) ได้
  4. สามารถใช้ชำระเงินตามกฎหมายได้ (Legal Payment)