“วิรไท” ผู้ว่าแบงก์ชาติ มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ “Nike Shaped” กลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ปลายปี 64 ยันไทยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินกู้ IMF เหตุภาคเศรษฐกิจจริง-มหภาคยังแกร่งมีกันชน แม้โดนแรงกระแทก ส่วนภาคการเงินยังดีอุ้มลูกค้าได้ ชี้ เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ตรงจุด-เฉพาะกลุ่ม ไม่เน้นทำนโยบายเหวี่ยงแหทั่วไป
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน” ภายใต้หัวข้อ “ก้าวต่อไป…ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์” ว่า มุมมองเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ถึงจุดต่ำสุด และหากโควิดไม่มีการระบาดรอบ 2 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ภายในปลายปี 2564 โดยลักษณะการฟื้นตัวจะอยู่ในรูปแบบ เครื่องหมายถูก หางยาว (Nike Shaped) ซึ่งจะเป็นการฟื้นตัวไปอยู่ในช่วงก่อนที่มีโควิด-19
อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยลงลึกกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นผลมาจากไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีการพึ่งพาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหลังมีการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก เพราะความต้องการท่องเที่ยวจากต่างประเทศน้อยลง ดังนั้น การจะให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาอยู่ที่ระดับ 40 ล้านคน อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีต่อจากนื้
ขณะที่ภาคการส่งออกก็มีบทบาทสำคัญระบบเศรษฐกิจไทย เพราะอุปสงค์ขึ้นอยู่กับประเทศคู่ค้า ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบทั้งหมด ทำให้อำนาจลดลง เช่นเดียวกับการผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานก็ถูกกระทบ ทำให้การฟื้นตัวจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
“มุมมองของเรามองไตรมาสที่ 2 แย่ที่สุด เพราะเป็นช่วงที่กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดทั่วโลก จะส่งสินค้าไม่ได้ หรือรับออร์เดอร์มาก็ผลิตไม่ได้ ส่วนไตรมาสที่ 3 อาจจะเห็นการฟื้นตัวได้แต่ไม่ได้แบบก้าวกระโดด”
มีข้อสังเกตว่าถึงคำถามที่ว่าครั้งนี้ทำไม่ประเทศไทยไม่ขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นั้น ดร.วิรไท กล่าวว่า ครั้งนี้ของยืนยันว่าไทยไม่มีความจำเป็นขอความช่วยเหลือจาก IMF จากปัจจุบันมีสมาชิกขอความช่วยเหลือแล้วจำนวน 102 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 145 ประเทศ เนื่องจากไทยยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแรง แม้ว่าภาคเศรษฐกิจจริงจะโดนกระทบแรงไม่แพ้ปี 2540 และมีกันชนเศรษฐกิจมหภาคค่อนข้างแรงแรง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศระดับสูง และไทยไม่ได้พึ่งพิงเงินกู้จากต่างประเทศ ทำให้ ธปท. สามารถทำนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ได้
- “วิรไท” ปฏิเสธรับตำแหน่งใน ครม.เศรษฐกิจ ชุดใหม่
- เปิดบทสัมภาษณ์ “ดร.เศรษฐพุฒิ” ย้อนมุมมอง-ความคิด ตัวเต็ง “ผู้ว่า ธปท.”
ขณะที่ภาคการเงินที่มีสถานะแข็งแกร่ง จะเห็นว่าสามารถดูแลลูกค้าผ่านมาตรการรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือการแปลงสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว 48 เดือน หากภาคสถาบันการเงินไม่เข้มแข็ง เงินกองทุนไม่แข็งแกร่ง ธนาคารจะไม่สามารถทำได้มาตรการเหล่านี้ได้
“วิกฤตครั้งนี้บริบทแตกต่างจากปี 40 ที่เกิดขึ้นในประเทศ และตลาดเกิดใหม่ที่กระทบระบบการเงินที่ต้องปิดสถาบันการเงิน และกระทบเศรษฐกิจจริง แต่ตอนนั้นเศรษฐกิจโลกไม่มีปัญหา จะเห็นว่ามาถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทย และไม่กระทบสถาบันการเงิน เพราะเราได้บทเรียนในปี 40 ในการสร้างกลไกทั้งเงินกองทุนและสำรอง”
สำหรับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคการเงิน แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 ปลายเดือนก.พ.-มี.ค.63 กระทบกลไกตลาดเงินตลาดทุน ทำให้คนต้องการถือเงินสดทั้งโลก ดังนั้น มาตรการช่วงแรจะเน้นการรักษาเสถียรภาพการเงินเป็นเรื่องสำคัญผ่านการตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF)
ช่วงที่ 2 การควบคุมโรคระบาดไม่ให้รุนแรง จึงมีมาตรการล็อกดาวน์ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้คนว่างงาน มีการปิดกิจการชั่วคราว จึงเป็นนโยบายเร่งเยียวยาผ่านการให้เงินจากภาครัฐ และภาคธนาคารได้ออกมาตรการขั้นต่ำเป็นการทั่วไปสำหรับลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบ
ช่วงที่ 3 การฟื้นฟู การเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดรับหลังโควิดภิวัฒน์ โดยจะต้องเป็นมาตรการที่ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้เฉพาะกลุ่มมากกว่าเป็นมาตรการทั่วไปที่เป็นลักษณะเหวี่ยงแห เพราะจะเป็นการสร้างผลกระทบข้างเคียงให้กับสถาบันการเงิน หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ แต่เข้าโครงการ ทำให้ธนาคารไม่มีทรัพยากรไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ แต่อีกข้างธนาคารยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก
“เท่าที่ดูเราพบว่าลูกหนี้กลับมาจ่ายได้ปกติมากขึ้น ส่วนซอฟต์โลนธปท.ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เราใช้ทั้งเยียวยา และฟื้นฟู ซึ่งเราสามารถต่ออายุโครงการได้อีกครั้ง 6 เดือน จำนวน 2 ครั้ง และตอนนี้เราอยู่ระหว่างคุยกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่จะมีช่วยรับความเสี่ยงจากโครงการหมด 2 ปีแรก ซึ่งบสย.กำลังคิดโครงการอยู่”