มรสุมโควิดทุบครึ่งปีแรกประกันชีวิต -3.27% “ไทยสมุทร” ติดลบ1%

มรสุมโควิดฉุด “ธุรกิจประกันชีวิต” 6 เดือนแรกติดลบ 3.27% ไทยสมุทรยังยืนแกร่งติดลบ 1% แต่ยีลด์ลงทุนยังแกร่งบวก 5.54% ตั้งรับครึ่งปีหลังดันธุรกิจช่องทางตัวแทนตีตื้นหวังปิดสิ้นปีเบี้ยรวมโตบวก หวั่นธุรกิจเผชิญดอกเบี้ยต่ำ-วิกฤตโควิดระบาดทั่วโลกกดดันเบี้ยประกันกลุ่มแผ่ว-สินทรัพย์ลงทุนด้อยค่า ลุยแผนปรับพอร์ตสินค้าออมทรัพย์มุ่งเน้น “ประกันสุขภาพ-คุ้มครองชีวิต-ยูนิตลิงก์-ตลอดชีพ-ชั่วระยะเวลา”

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ภาพรวม 6 เดือนแรกปีนี้ เบี้ยรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตติดลบ 3.27% ในขณะที่ไทยสุมทรติดลบอยู่ที่ 1% ซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาด ทั้งนี้ประเมินปีนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมทั้งระบบจะมีเบี้ยรวมติดลบอยู่ที่ 2-5% ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 มองว่าผลกระทบโควิดยังมาไม่สุด ภาคการผลิตหยุดชะงักทั่วโลกแต่ยังไม่กระทบมาถึงธุรกิจประกันภัย ฉะนั้นอาจจะเห็นออเดอร์การผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะประกันกลุ่มอาจจะหายไปแต่สำหรับลูกค้าของบริษัทยังต่ออายุกันอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตามประเมินเบี้ยรวมปีนี้ของบริษัทจะพยายามไม่ให้ติดลบซึ่งถือว่าเก่งมาก จากเดิมที่ตั้งเป้าจะเติบโต 5% เบี้ยรวมอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท

“ความท้าทายนอกจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ต่ำยืนยาว กดดันให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนสินค้าสะสมทรัพย์ที่การันตีผลตอบแทน ทำให้ภาพการเติบโตของบริษัทประกันในไตรมาส 1 หลายๆแห่งเบี้ยรวมยังเป็นแค่ภาพลวงตา หลังจากนี้โจทย์ยากทั้งตัวสินค้าและภาวะเศรษฐกิจที่จะกดดัน แต่เราเชื่อว่าเราจะผ่านไปได้”

นางนุสรากล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 5 เดือนแรกท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทมีรายได้จากเบี้ยประกันชีวิตรับรวมจำนวน 5,917 ล้นบาท เบี้ยประกันชีวิตปีต่อไปเพิ่มขึ้น 4% หรือคิดเป็นเบี้ยรับจำนวน 4,827 ล้นบาท โดยมีช่องทางตัวแทนเป็นช่องทางหลัก มีเบี้ยประกันรับรวมจำนวน 5,024 ล้นบาท แม้ติดลบอยู่ 2-3% มีจำนวนตัวแทนทั้งหมด 13,000 คน ส่วนช่องทางอื่นๆ มีเบี้ยประกันอนู่ที่ 800-900 ล้านบาท ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าสิ้นปีนี้ผลงานของช่องทางตัวแทนจะตีตื้นสร้างผลงานที่ดีกลับมาทดแทนได้

นอกจากนี้บริษัทมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์อยู่ที่ 82% ถึงแม้ว่าบริษัทจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมาก แต่บริษัทยังสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ถึง 5.54% ตอกย้ำความแข็งแกร่งในการดำเนินธุกิจ โดยบริษัทมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) อยู่ที่ 370.36% มีเงินสำรองประกันชีวิตอยู่ที่ 75,030 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 98,472 ล้านบาท แยกพอร์ตลงทุนตราสารหนี้ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้รวมกัน 70-80%, การปล่อยสินเชื่อ(มีหลักทรัพย์ประกัน) อาทิ ที่ดิน, สิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น สัดส่วน 14%, ปล่อยกู้เงินตามกรมธรรม์สัดส่วน 12% และลงทุนหุ้นสัดส่วน 2-3% ทั้งนี้อาจมีสินทรัพย์ด้อยค่าลงไปบ้างตามมาตรฐานบัญชีแต่ยีลด์ยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดีครึ่งปีหลังอาจจะเป็นจังหวะที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนหุ้นเพิ่มเพื่อหาผลตอบแทนเนื่องจากบริษัทได้กำหนดลงทุนหุ้นไว้ไม่เกิน 5% ยังมีช่องว่างอยู่ ซึ่งโฟกัสหุ้นตากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

Advertisment

นางนุสรากล่าวต่อว่า ความยากของการทำธุรกิจประกันชีวิตหลังจากนี้คือการต้องปรับสินค้าจากประกันออมทรัพย์การันตีผลตอบแทน มาเป็นสินค้าความคุ้มครอง ประกันตลอดชีพ ประกันชั่วระยะเวลา ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ รวมไปถึงประกันชีวิตควบการลงทุน(ยูนิตลิงก์) เพื่อฟันฝ่าในยุคดอกเบี้ยต่ำ

ทั้งนี้ภาวะวิกฤตโควิด-19 ทางสมาคมฯกำลังหารือ คปภ.ที่จะขอผ่อนปรนการป้องกันความเสี่ยง(Hedging) โดยให้บริษัทประกันชีวิตดำเนินการตั้งค่าเสี่ยง(Risk Charge) ของสินทรัพย์ที่ลงทุนมีความยืดหยุ่นทั้งในและต่างประเทศลงมาจากเดิม โดยเฉพาะการลงทุนหุ้นและการลงทุนกองทุนรวม โดยเฉพาะที่เกิดจากการตื่นตระหนก(เพนิก) ของประชาชนซึ่งมีการถูกเทขายสินทรัพย์ออกมาชั่วคราว คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จในไตรมาส 3 นี้

Advertisment