กรุงศรี ปักหมุดแผนปี 64-66 ลุยอาเซียนหวังโกยรายได้เกิน 3%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เตรียมแผนธุรกิจระยะกลางปี 64-66 สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน-รับมือเมกะเทรนด์-New Normal เดินหน้าปักหมุดลุยตลาดอาเซียน เล็งเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศจาก 3% จับมือพันธมิตรขยายธุรกิจ

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการขออนุมัติแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ที่จะใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2564-2566 เป็นการต่อยอดความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันแผนกลยุทธ์ทำได้แล้วประมาณ 40%

อย่างไรก็ดี เป้าหมายสำคัญที่ยังมุ่งเน้น คือ ธนาคารตั้งเป้าเป็นเป้าหมายการเป็นสถาบันการเงินที่ทรงพลังในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Financial Powerhouse) โดยใช้ประโยชน์เครือข่ายระดับโลกของบริษัทในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ที่มีสาขากว่า 1,600 แห่ง ใน 8 ประเทศ

โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอยู่ประมาณ 3% ของรายได้รวม และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแผนการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ โดยขณะนี้ธนาคารกรุงศรีฯ มีเครือข่ายสาขาได้ สปป.ลาว สาขาเวียงจันทน์ และบริษัทเช่าซื้อ สาขากัมพูชา ของ Hattha Kaksekar Ltd. บริษัทไมโครไฟแนนซ์เครือกรุงศรีในกัมพูชาในการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ Hattha Bank Plc. และสำนักผู้แทนที่ประเทศเมียนมา ส่วนเวียดนามและอินโดนีเซียจะมีพันธมิตรแบงก์

และฟิลิปปินส์จะเป็นลักษณะการร่วมทุน 50% ภายหลังจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เข้าซื้อหุ้น 50% ของบริษัท เอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ (SB Finance Company, Inc. หรือ SBF) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทไฟแนนซ์ในประเทศฟิลิปปินส์ที่มีการเติบโตสูงจากซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น (Security Bank Corporation) หรือ SBC โดยธนาคารจะขยายไปเรื่องของธุรกิจรายย่อย หรือขยาย QR Payment

“แผนอาเซียนเราคงไม่เปลี่ยนไป เพราะเราปักหมุดมานานแล้ว และมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทยให้เราธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ หรือ D-SIB ที่อยู่ 1 ใน 5 เราก็มีความพร้อมมากขึ้น เพราะเรามี Footprint และสัดส่วนต่างประเทศก็มีความสำคัญ”

นายไพโรจน์ กล่าวว่า สำหรับปี 2563 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบันที่ครอบคลุมการดำเนินงานปี 2561-2563 นั้น กรุงศรีได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการเงินในยุคดิจิทัลด้วยการผลักดันแผนเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ การเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้าผ่านกระบวนการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Customer Experience Enhancement) การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยศักยภาพด้านข้อมูล (Data-Driven Capabilities) กลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership Strategy) และการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Overseas Business Expansion) ซึ่งกรุงศรีสามารถดำเนินตามแผนเชิงยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกและส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบันต่อเศรษฐกิจมหภาคและภาคอุตสาหกรรมตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกเซ็กเมนท์ กรุงศรีจึงได้ดำเนินการเชิงรุกฝ่าวิกฤตโดยปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่เน้นย้ำ 3 หลักการคือ

1. การช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องทั้งลูกค้าบุคคล ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าธุรกิจ ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ 2. การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และ 3.การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับกลยุทธ์ให้สามารถรับมือกับความท้าทายอย่างทันท่วงทีท่ามกลางวิกฤตแห่งความไม่แน่นอนนี้

“เราจะใช้ประโยชน์ด้านข้อมูลที่กรุงศรีมีในฐานะผู้นำตลาดการเงินเพื่อรายย่อย และผู้นำตลาดลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นในไทย และการใช้ประโยชน์ของ MUFG ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับโลกหรือเมกะเทรนด์ และสอดรับกับวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ทำให้กรุงศรีมีตำแหน่งทางการตลาดและความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่นทั้งในเวทีระดับประเทศและในภูมิภาคอาเซียน”