จับตาพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคหลังโควิด สินค้าอะไรขายดี-ผู้บริโภคกลุ่มใดซื้อของเพิ่มขึ้น

ช้อปออนไลน์
คอลัมน์ SMART SMEs
TMB Analytics

อย่างที่ทราบกันว่า SMEs ของไทย ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างหนักในหลายอุตสาหกรรม ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว ความต้องการสินค้าและบริการจากต่างชาติที่หดตัวลง การลดลงของกิจกรรมนอกบ้าน หรือความวิตกและความระมัดระวังในการใช้จ่ายของประชาชน ทุกปัจจัยล้วนส่งผลลบต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน SMEs จำนวนมากยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของ SMEs บางส่วนทำให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในยุคหลังโควิดที่หันไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics จึงได้รวบรวมข้อมูลและประเมินการใช้จ่ายซื้อสินค้าในแต่ละอุตสาหกรรมเปรียบเทียบในช่วงก่อนและหลังจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยพิจารณาทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ โดยแบ่งตามกลุ่มช่วงอายุของผู้บริโภค พบพฤติกรรมที่น่าสนใจใน 3 ประเด็นดังนี้

1.พฤติกรรมของผู้บริโภคในภาพรวมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ในภาพรวมการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีการปรับลดลงต่ำสุดในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ และทยอยฟื้นตัวตามการคลายล็อกดาวน์แต่ละเฟส เช่น ช่วงการคลายล็อกดาวน์เฟส 2 (เดือนพฤษภาคม) การจับจ่ายใช้สอยสินค้าประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือน รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภค มีการฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ช่วงเฟส 4 (เดือนมิถุนายน) การจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มร้านอาหาร กลุ่มบันเทิงและนันทนาการ ก็เริ่มทยอยฟื้นตัวกลับมาเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคด้านประกันภัย และการรักษาพยาบาล กลับเป็น 2 กลุ่มที่ยอดการใช้จ่ายมีการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงปกติ

2.พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ในช่วงก่อนและหลังล็อกดาวน์ หากพิจารณาเฉพาะยอดการใช้จ่ายซื้อของออนไลน์ พบว่า การจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและเครื่องใช้ในครัวเรือนมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงล็อกดาวน์ (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563) ที่มียอดการซื้อของออนไลน์ในกลุ่มนี้สูงมากหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนล็อกดาวน์ นอกจากสินค้าในครัวเรือนแล้ว การขนส่งผ่านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการดีลิเวอรี่ หรือขนส่งผู้โดยสาร ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีการบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดการใช้จ่ายเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว ซึ่งพฤติกรรมการใช้จ่ายทั้งสองกลุ่มนี้ ยังคงเติบโตในอัตราสูงแม้ผ่านช่วงคลายล็อกดาวน์ไป

3.กลุ่มช่วงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงในการบริโภคออนไลน์มากที่สุด หากพิจารณาผู้บริโภคตามกลุ่มอายุ พบว่า ผู้บริโภคในกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี มีแนวโน้มในการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงล็อกดาวน์ และมีอัตราการซื้อของในระดับคงตัวแม้ผ่านช่วงล็อกดาวน์ไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีการการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มอายุ 31-50 ปี มีลักษณะการซื้อของออนไลน์คล้ายคลึงกัน คือเพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ แต่กลับมาหดตัวในช่วงหลังคลายล็อกดาวน์ตามรายได้เฉลี่ยที่หดตัวลง

ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยลดการบริโภคผ่านทางช่องทางออนไลน์ในตลอดช่วงล็อกดาวน์และช่วงหลังคลายล็อกดาวน์

จากข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคข้างต้น แม้สภาพเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศปีนี้จะซบเซาลงในภาพรวม แต่หากมองลึกในกลุ่มสินค้า รูปแบบการซื้อ และกลุ่มช่วงอายุของผู้บริโภค จะเห็นได้ว่ายังมีโอกาสหรือช่องทางธุรกิจแฝงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z (อายุต่ำกว่า 20 ปี) และ Gen Y (อายุระหว่าง 21-40 ปี) ยังคงเติบโตได้ ดังนั้น ธุรกิจ SMEs นอกจากจะต้องเตรียมพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นด้านสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานมากขึ้น ด้านการตลาดต้องเข้าใจในพฤติกรรมตลาดที่เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยที่เข้ากระทบ

และสิ่งสำคัญคือการปรับตัวไปตามกระแสของตลาดได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับ SMEs ในการพลิกฟื้นและสามารถต่อสู้ต่อไปได้อย่างแน่นอน