SMEs จะตั้งการ์ดประคองธุรกิจ และรักษาการเติบโตได้อย่างไรในปี 2564

คอลัมน์ Smart SMEs
TMB Analytics

ปัจจุบันการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ขยายขอบเขตการแพร่ระบาดออกเป็นวงกว้างกระจายไปในหลายพื้นที่ และการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนมียอดผู้ป่วยสะสมกว่า 8 พันราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 2564)

โดยตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2563 ธุรกิจในประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากการกลับมาระบาดระลอกใหม่ ย่อมทำให้ผู้บริโภคและธุรกิจมีความกังวลมากขึ้นสร้างผลกระทบความสูญเสียจากการที่ประชาชนชะลอการทำกิจกรรมในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ และชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศการเลี้ยงสังสรรค์การจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการลดความถี่ในการใช้จ่ายที่ร้านค้าปลีก

จากข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงการระบาดครั้งแรกในปี 2563 พบว่า ในช่วงที่รัฐมีมาตรการควบคุมการระบาดนั้น ยอดการใช้จ่ายซื้อของออนไลน์ในสินค้าประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือนมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงที่สุด รวมไปถึงการขนส่งผ่านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการดีลิเวอรี่ประเภทอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน ก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถใช้เป็นบทเรียนและเป็นแนวทางให้ธุรกิจปรับตัวได้มากขึ้น

ซึ่งเห็นได้จากยังมีธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ยังเติบโตต่อเนื่อง จากการมีช่องทางออนไลน์ โดยสามารถใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และปรับตัวตั้งรับกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงที่กิจกรรมของผู้บริโภคลดลง ธุรกิจขายของไม่ค่อยได้ แต่ต้นทุนไม่ลงตาม คือ “ลดต้นทุนคงที่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เจรจายืดเทอมเครดิตกับคู่ค้า และทำตลาดออนไลน์เสริม” ซึ่งกลยุทธ์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลายท่านก็ได้ลองทำไปแล้วในสนามจริง และจะสามารถนำมาใช้ได้อีกครั้งในรอบนี้

แต่สิ่งที่ SMEs สามารถเพิ่มเติมและนำมาเป็นเครื่องป้องกัน ในช่วงที่สถานการณ์ระบาดระลอกใหม่นี้ เป็นเรื่องความเข้าใจและปรับตัวเข้ากับ “พฤติกรรมผู้บริโภครูปแบบใหม่” จะทำให้สามารถเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจที่เป็น new normal ที่เกิดกับผู้บริโภคคือ การใช้ digital ของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนอาจลดการเดินทางไปในสถานที่ที่มีความแออัด ทำให้เกิดพฤติกรรม 3 ลด ได้แก่ “ลดเที่ยว ลดทานข้าวนอกบ้าน ลดช็อปปิ้งห้างสรรพสินค้า”

Advertisment

สำหรับภาคธุรกิจเองก็มี new normal เช่นกัน คือ “การทำงานที่บ้าน (work from home) การประชุมออนไลน์ รวมถึงการติดต่อลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น”

ซึ่งพฤติกรรม new normal เหล่านี้ สามารถก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจได้ ยกตัวอย่าง พฤติกรรม “3 ลด” ที่ผู้บริโภคจะหันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มส่วนแบ่งตลาดการขายสินค้าในช่องทางออนไลน์จะเพิ่มขึ้น การจัดส่งสินค้ามากขึ้น แต่ก็จะมีแข่งขันในด้านการบริการและราคาเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจต้องมองหาช่องทางทำตลาดออนไลน์และตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

Advertisment

โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z (อายุ 21-40 ปี) ซึ่งในรอบการระบาดที่ผ่านมามีแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยในรูปแบบออนไลน์เติบโตสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าภายในครัวเรือน และการดีลิเวอรี่สินค้า อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ธุรกิจจะต้องดูแลลูกค้าในตลาดออฟไลน์และออนไลน์ รวมไปถึงการเพิ่มทางเลือกในการจัดหาแหล่งสินค้าหรือวัตถุดิบในประเทศเพื่อตอบสนองตลาดได้ดีขึ้น

สำหรับ new normal ของภาคธุรกิจนั้น การทำงานผ่านระบบออนไลน์ จะทำให้กิจการสามารถลดต้นทุนได้ นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาปรับใช้อย่างเหมาะสม เช่น ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และสลับวันทำงานเพื่อไม่ให้แออัด ซึ่งนำไปสู่การลดค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ตลอดจนถึงธุรกิจสามารถพิจารณาลดพื้นที่เช่าสำนักงานให้มีขนาดพอเหมาะกับจำนวนพนักงาน จะทำให้ต้นทุนของกิจการลดลง

หากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่สามารถควบคุมได้ และภาครัฐมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดในครั้งแรกเนื่องจากทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจมีบทเรียนและประสบการณ์ในการปรับตัวจากการระบาดครั้งก่อน

ยิ่งหาก SMEs สามารถมองสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้น มีการตั้งการ์ดอย่างเป็นระบบและหาโอกาสรุกอย่างมีทิศทาง จะช่วยธุรกิจ SMEs ก้าวฝ่าอุปสรรคในปีนี้ไปได้อย่างแน่นอน