โบรกชี้ Q4/63 กำไรแบงก์-34% ปมตั้งสำรองสูง-ลุ้นครึ่งหลังปี’64 ฟื้น

โบรกฯวิเคราะห์กำไรแบงก์ Q4/2563 หดตัว -34% เทียบปีก่อน เหตุภาระตั้งสำรองยังสูงรับมือ NPL หลังจบพักหนี้เดือน ต.ค. “บล.เมย์แบงก์ฯ” คงมุมมองเชิงบวกลงทุน ชี้เป็นโอกาสช้อนซื้อหุ้นราคาถูกต้นปีรอการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ด้าน “บล.กสิกรไทย” ประเมินแนวโน้มปี 2564 หนี้เสียทะลุ 4% ชี้เป็นปีแห่งการดูแลคุณภาพหนี้-ช่วยลูกค้า ไม่เน้นแต่ทำกำไร

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ธนาคารพาณิชย์จะทยอยแจ้งผลประกอบการไตรมาส 4/2563 โดยฝ่ายวิจัยได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิของหุ้นในกลุ่มแบงก์ ครอบคลุม 7 แบงก์ คาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวมกัน 23,026 ล้านบาท ลดลง 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และ ทรงตัวเป็น 0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QOQ) (ดูตาราง)

ทั้งนี้ บริษัทยังมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าออกไป แต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรอบแรกที่มีการล็อกดาวน์เต็มพื้นที่

อย่างไรก็ดีแบงก์ยังได้รับแรงกดดันหลักมาจากต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้น ขณะที่ส่วนต่างผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ย (NIM) กลับลดลง นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากบรรยากาศเชิงลบจากที่ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.พ.นี้

“แม้จะมีข่าวร้ายมากระทบ ซึ่งราคาหุ้นแบงก์อาจถูกกดลงไปอีก แต่เรามองเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อ เพื่อคาดหวังการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2564 เพราะราคาหุ้นในกลุ่มได้สะท้อนปัจจัยความกังวลจากประเด็นต่าง ๆ รวมถึงประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ไปแล้ว

ทั้งนี้ หุ้นแบงก์ซื้อขายกันในราคาที่ค่อนข้างต่ำ หรือมีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV หรือเทียบกับอัตราส่วนราคาต่อกำไรในหุ้นกลุ่มอื่น ๆ) ที่ 0.63 เท่า เท่านั้น จึงแนะนำซื้อโดยเลือกธนาคารทหารไทย (TMB) กับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็นหุ้นเด่น”

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรไตรมาส 4/2563 ของกลุ่มแบงก์ (ไม่รวมธนาคารกสิกรไทย เนื่องจากบริษัทไม่สามารถวิเคราะห์กำไรของบริษัทแม่ได้ตามกฎหมาย) อยู่ที่ 22,163 ล้านบาท ลดลง 1.1% QOQ และลดลง 31.9% YOY เนื่องจากกลุ่มแบงก์ยังมีภาระการตั้งสำรองที่ค่อนข้างสูงสอดคล้องกับแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่อาจปรับขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือทั่วไปสิ้นสุดลงในเดือน ต.ค. 2563

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 คาดว่ากำไรของกลุ่มยังได้รับผลกระทบจากคาดการณ์แบงก์ขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ TMB ยังมีภาระการตั้งสำรองที่สูง

อย่างไรก็ดี หากรวมผลประกอบการของ KBANK จะส่งผลให้ปี 2564 กำไรสุทธิกลุ่มแบงก์มีการเติบโตประมาณ 10% เนื่องจาก KBANK มีการตั้งสำรองที่ค่อนข้างสูงไปแล้วในปี 2563

“ถ้าพิจารณากำไรสุทธิก่อนตั้งสำรองพบว่า เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ก่อนไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากธนาคารยังต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง เช่น การขยายระยะเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น จึงต้องตั้งสำรองหนี้สูญเอาไว้”

สำหรับการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ เนื่องจากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์เพียงบางพื้นที่ ดังนั้น ผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมจากการขาย เช่น การขายประกัน หรือการขายบัตรเครดิต ที่หดตัวมากในปีก่อนจากการปิดสาขา มีแนวโน้มผ่อนคลายลง อีกทั้งฝ่ายวิจัยประเมินผลกระทบรอบนี้จะกินระยะเวลาประมาณ 2 เดือนเท่านั้น จึงคาดว่าธุรกิจธนาคารจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวต่อจากนั้น

นายกรกชกล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ NPL ปี 2564 จะปรับขึ้นที่ระดับกว่า 4% (ยังไม่รวมกรณีการตัดขายหนี้เสีย) จากระดับ 3.9% ในไตรมาส 3/2563 ถือว่าไม่สูงจนเกินไป โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นจะมาจากกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะล้มหายตายจากในช่วงโควิด-19 ที่คิดเป็นประมาณ 2% จากกลุ่มลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังมีมุมมองเชิงบวกในการลงทุนหุ้นธนาคาร จากโอกาสการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 จึงมองเป็นกลุ่มหุ้นที่ควรมีในพอร์ต อย่างไรก็ดี แนะนำเลือกลงทุนรายตัว โดยเลือกหุ้นที่ราคายังปรับขึ้นไม่มาก รวมถึงมีอัตราเงินปันผล (dividend yield) ที่สูง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ส่วนการที่ ธปท.ประกาศขยายระยะเวลาช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยออกไปถึง 30 มิ.ย. 2564 นั้น เชื่อว่าจะส่งผลดีในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์ในพอร์ตของธนาคาร แม้ว่าอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ทางการยังมีเครื่องมือช่วยประคองต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ผ่านการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ยังทำได้อีกระลอกหนึ่ง

“ปี 2564 นี้ คงไม่ใช่ปีที่จะคาดหวังการเติบโตจากธุรกิจธนาคาร จากการปล่อยสินเชื่อในอดีต โดยเป้าหมายหลักของทุกแบงก์ น่าจะเป็นการดูแลคุณภาพสินทรัพย์และช่วยเหลือลูกค้าเป็นหลัก” นายกรกชกล่าว