‘เอเซีย พลัส’ คัด 6 หุ้นอรหันต์น่าซื้อเดือน ก.พ. เก็งฟันด์โฟลว์ไหลเข้า

เงินบาท-ธนบัตร
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

‘เอเซีย พลัส’ เผยบทวิเคราะห์การลงทุนเดือน ก.พ. มีลุ้นฟันด์โฟลว์ไหลเข้า หลังสภาพคล่องทั่วโลกยังล้นหลาม ตลาดหุ้นไทยกำไรปี’64 โตเด่นสุดในภูมิภาค 7.19 แสนล้านบาท ส่ง 6 หุ้นอรหันต์ แข็งแกร่ง-ปันผลดี

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า บทวิเคราะห์หุ้นรายเดือน โดยสรุปข้อมูลจากวารสาร INVEST+ ประจำเดือน ก.พ.64 ดังนี้

หุ้นไทย

เศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งมีหลายปัจจัยที่คอยสนับสนุนให้ Fund Flow ต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องในระยะกลาง-ยาว ดังนั้น คงน้ำหนักหุ้นไทยไว้ที่ 40% (มากกว่าตลาดฯ) กลยุทธ์เลือกหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่คาดกำไรมีการเติบโตในปีนี้ (2564) อาทิ PTT SCC BDMS CPF และหุ้นปันผลสูงอย่าง TISCO MCS ส่วนหุ้นที่ราคาปรับขึ้นไปเกินมูลค่าพื้นฐาน (Overvalue) ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน คือ HANA

การลงทุนต่างประเทศ

แม้กระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) มีทิศทางไหลเข้าตลาดหุ้นจากสภาพคล่องส่วนเกินที่ล้นระบบ อย่างไรก็ตาม โมเมนตัมยังคงน้ำหนักในตลาดหุ้นในฝั่งเอเชียมากกว่า จากการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2564 ในฝั่งเอเชียหลายประเทศยังสูงกว่าภาพรวมของโลก ดังนั้น ฝ่ายวิจัยฯ คงน้ำหนักหุ้นต่างประเทศเป็น 20% ของพอร์ตการลงทุน (Underweight) กลยุทธ์เน้นหุ้นโซนเอเซียที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปีอย่าง ZTE Corp (763 HK) และ British American Tobacco PLC (BATS LN)

ตราสารหนี้

การล็อกดาวน์ช่วงต้นปี 2564 กดดันให้รัฐออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม แต่นโยบายการคลังเริ่มเผชิญขีดจำกัด จึงคาดว่าภาครัฐจะเน้นนโยบายการเงินผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตแทน คงน้ำหนักตราสารหนี้ที่ 20% ของพอร์ตรวม (Overweight) เน้นลงทุนตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 3 ปี และได้รับการจัดอันดับเครดิต (Credit Rating) ระดับลงทุนได้ (Investment Grade) ขึ้นไป ได้แก่ CPNREIT232A และ EA257A

กลยุทธ์การลงทุน

การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีการขยายครอบคลุม 48 ล้านคน (38 ประเทศ) คิดเป็น 0.7% ของประชากรโลก โดยมีบางประเทศฉีดได้เร็ว อาทิ อิสราเอล ครอบคลุมไปแล้วเกือบ 40% ของประเทศ ซึ่งทางวารสารการแพทย์สากลคาดในปีนี้จะเห็นการฉีดครอบคลุม 3 ใน 4 ของประชากรโลก ขณะที่ผู้ติดเชื้อทั่วโลกทยอยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง 2 สิ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญช่วยลดความเสี่ยงขาลง (Downside) ของจีดีพีในปี 2564 และยังเห็นสำนักเศรษฐกิจ อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เริ่มปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ของโลกเพิ่มขึ้น จาก 5.2% เป็น 5.5%

นอกจากนี้ ยังเห็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจัดเต็มทั้งในส่วนนโยบายการคลัง อาทิ ประธานาธิบดีสหรัฐ อัดฉีดเงิน 9% ของจีดีพีเพื่อพยุงเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินยังมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อ อาทิ ยุโรป และไทย ที่มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ถือเป็นอีกหนึ่งแรงส่งให้เศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ขณะที่แนวโน้ม Fund Flow ในเดือน ก.พ. ยังมีหลายปัจจัยหนุนให้ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย รวมถึงไทย คือ 1) ไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนในเดือน ก.พ.64 น่าจะเห็นความต้องการซื้อที่หยุดชะงักไป (Pend up Demand) แรงกว่าในอดีตตอนมีการคลายล็อกดาวน์ และอาจฟื้นตัวได้เร็วเฉกเช่นหลายๆ ประเทศที่เริ่มมีการฉีดวัคซีน โดยปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีโอกาสฟื้นตัวเร็วขึ้น

และ 2) อาจเห็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากสหรัฐมาในฝั่งเอเชียมากขึ้น ตามนโยบายการขึ้นค่าจ้างและภาษีในสหรัฐ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน รวมถึงความกังวลเรื่องการลดขนาดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE Tapering) ผ่อนคลายลงมาก

ส่วน Downside ประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2564 แม้จะมีความเสี่ยงจากการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ แต่กำไรของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมีสัดส่วนเพียง 4% ของกำไรทั้งหมด แต่อาจถูกหักล้างจากแรงหนุนกำไรกลุ่มพลังงานสัดส่วนกว่า 30% ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ยังยืนเหนือสมมุติฐานที่ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ ภาพรวมฝ่ายวิจัยประเมินกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 7.19 แสนล้านบาท คิดเป็น ESP ที่ 65.04 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) และเป็นการฟื้นตัวได้เด่นเป็นอันดับต้นๆ ของตลาดหุ้นในแถบตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)

โดยกลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกหุ้นใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่งที่ได้แรงหนุนจาก Fund Flow และคาดว่าจะมีกำไรเติบโตเด่นในปีนี้ อาทิ PTT SCC BDMS CPF และหุ้นปันผลสูงอย่าง TISCO MCS ในทางตรงกันข้ามหุ้นที่ขยับขึ้นมาแรงจนเกินมูลค่าทางพื้นฐาน อย่าง HANA ต้องระมัดระวังในการชื้อขาย หรือเก็งกำไร

หุ้นเด่นเดือน ก.พ.64