กูรูมอง…”GameStop” สงครามการลงทุนที่โลกต้องจารึก

ปรากฏการณ์ “GameStop” ที่นักลงทุนรายย่อยรวมตัวกัน “ดัดหลัง” ขาใหญ่ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีต (WallStreet) ในสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรดากองทุน “เฮดจ์ฟันด์” (Hedge Fund) เจ๊งกันไม่เป็นท่าในช่วงที่ผ่านมา สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

และเริ่มลุกลามไปสู่การลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นรวมถึงกำลังก่อเกิดพฤติกรรมเอาอย่างในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยที่หุ้นหลายตัวที่มีลักษณะ “ฟรีโฟลตต่ำ” เริ่มตกเป็นเป้า

ประชาธิปไตยในตลาดทุน

โดย “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนหุ้นคุณค่า (VI) วิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ “GameStop” เป็นเรื่อง “ประชาธิปไตยของตลาดทุน” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากคนรุ่นหนุ่มสาวที่เข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้น จากทั้งกลุ่มคนที่ตกงานและกลุ่มคนที่ทำงานที่บ้าน (work from home)

ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้คนสามารถรวมพลังในการทำเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการพูดคุยกันในห้อง“WallStreetBets” บนเว็บไซต์ Reddit (เหมือนกับห้อง “สินธร” บนเว็บไซต์ Pantip ของไทย)

เมื่อนักลงทุนรายหนึ่งค้นพบว่าหุ้น GameStop ไม่สามารถปรับขึ้นได้ ไม่ว่าจะมีคำสั่งซื้อมากแค่ไหนก็ตาม แถมราคาหุ้นยังถูกลงเรื่อย ๆ แม้ธุรกิจเช่าวิดีโอของ GameStop จะไม่ค่อยดีก็จริง แต่ราคาหุ้นกลับลดลงจนแทบไร้มูลค่า นอกจากนี้

หุ้นดังกล่าวถูกขายชอร์ต (short sale) กว่า 100% จึงเกิดไอเดียให้คนหันมาซื้อหุ้นเก็บไว้ รวมถึงร่วมมือกันไม่ขายหุ้นให้นักลงทุนสถาบันยืมไปขายชอร์ต เพื่อดันราคาหุ้นขึ้นไปเรื่อย ๆ

ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับขึ้นถึง 10 เท่า ต่อเนื่องในช่วง 10 วันทำการ เหตุการณ์นี้ทำให้นักลงทุนรายย่อยในสหรัฐกลับมามีบทบาทมากขึ้น จากเดิมที่มีแต่รายใหญ่ ๆ ครอบงำตลาดทุน

“กองทุนประเภท Hedge Fund ที่มีการขายชอร์ตหุ้น GameStop จำเป็นต้องซื้อหุ้นคืน เพื่อนำไปขายจริง ส่งผลให้กองทุนดังกล่าวขาดทุนอย่างหนัก และมีบางส่วนที่ขาดทุน 100% ส่งผลต่อเนื่องให้ต้องปิดตัวลง ปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นพลังของนักลงทุนรายย่อยที่ต่อสู้กับนักลงทุนรายใหญ่จะได้รับชัยชนะ”

พฤติกรรมเลียนแบบลามทั่วโลก

“ดร.นิเวศน์” บอกว่า ปรากฏการณ์ “GameStop” เกิดจากสื่อสังคมออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น และเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักลงทุนรายย่อยสามารถทำธุรกรรมได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ เช่น การซื้อขายหุ้นผ่าน “Robinhood” ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นซื้อขายหุ้นผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น

ขณะที่ต่อมาก็ยังมีการวางแผนเข้าซื้อหุ้น “AMC Entertainment Holdings Inc.” ผู้ให้บริการโรงหนังในสหรัฐ รวมถึงหุ้น “BlackBerry Ltd.”ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังในอดีต และลามไปถึงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเงิน (silver) ที่ส่งผลให้ราคาปรับขึ้นกว่า 10%

ขณะที่ในอาเซียนนั้น นักลงทุนในมาเลเซียก็เริ่มพูดถึง “Bursabets” (มาจากชื่อตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซา) และมุ่งเป้าไปที่การเข้าซื้อหุ้นถุงมือยางที่เห็นว่าราคาต่ำเกินไป สวนทางกับหุ้นถุงมือยางในไทย ขณะที่ในไทยอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก

เพราะตลาดหุ้นไทยมีข้อแตกต่างกับตลาดหุ้นสหรัฐในแง่ที่ราคาหุ้นแพงเกินไป จึงไม่สามารถซื้อหุ้นที่ราคาแพงอยู่แล้ว เพื่อต่อสู้กับนักลงทุนที่ขายชอร์ตได้ นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการซื้อขายหุ้นก็ยังไม่สมบูรณ์เท่ากับสหรัฐ เช่น ยังไม่มีแพลตฟอร์ตเทรดหุ้นฟรีอย่าง Robinhood เป็นต้น

“เครื่องมือการขายชอร์ตในไทยยังทำได้ยาก อีกทั้งนักลงทุนรายย่อยในไทยมีพฤติกรรมเกาะกระแสไปกับรายใหญ่ โดยมักถูกชักชวนให้เข้ามาซื้อหุ้น แต่อาจถูกนักลงทุนรายย่อยขายหุ้นทิ้งหักหลัง เป็นต้น

นอกจากนี้ เชื่อว่าหากเกิดปรากฏการณ์ซื้อขายหุ้นที่ไม่ปกติ ผู้ควบคุมกฎก็จะเข้ามามีบทบาทในการควบคุม ซึ่งต่างจากสหรัฐที่กฎเกณฑ์ค่อนข้างเป็นกลาง ไม่ดูแลนักลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเฉพาะ”

“GameStop” หุ้นไทยเกิดยาก

“วิน พรหมแพทย์” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนพรินซิเพิล กล่าวว่า หุ้นที่ฟรีโฟลตต่ำ มีโอกาสถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นราคาได้ ซึ่งตอนนี้ในประเทศไทยก็เริ่มเห็นนักลงทุนรายย่อยชักชวนกันตั้งกลุ่มแล้ว โดยมีหุ้นเป้าหมาย

อาทิ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) เป็นต้น ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยอาจเกิด “GameStop” ได้ยาก เนื่องจากนักลงทุนไทยนิยมใช้เครื่องมือการซื้อขายบนตลาดสัญญาล่วงหน้า (TFEX) มากกว่าใช้เครื่องมือเก็งกำไรอย่าง call option ที่นักลงทุนสหรัฐนิยมใช้มาก

นอกจากนี้ กองทุนในประเทศไทยไม่สามารถชอร์ตหุ้นได้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้แค่รายย่อยที่สามารถขายชอร์ตได้เท่านั้น

“ในระยะสั้นการปรับขึ้นของราคาหุ้นGameStop ส่งผลกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน โดยรายย่อยกว่า 6 ล้านคน ใช้บัญชีวงเงิน (margin) ทำให้สามารถใช้เงินจำนวนไม่มาก ซื้อหุ้นที่มีราคาสูงได้

อีกทั้งสามารถสร้างพอร์ตขนาดใหญ่ผ่านการใช้ความร่วมมือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่นักลงทุนสถาบัน อย่างกองทุนไม่สามารถสร้างความร่วมมือในลักษณะเดียวกันได้ เนื่องจากผิดกฎหมาย และจะได้รับโทษจาก ก.ล.ต.”

เครื่องมือใหม่ “ดาบสองคม”

“วิน” บอกด้วยว่า การใช้เครื่องมือซื้อขายหุ้น อาทิ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) รวมถึง TFEX ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พยายามผลักดันนั้น ก็ต้องถือว่าเป็น “ดาบสองคม”

อย่างกรณีหุ้น DELTA ที่ราคาถูกดันจนพุ่งขึ้นมาก หากไม่มีตลาดซื้อขายล่วงหน้า ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ในสหรัฐ นักลงทุนก็ใช้เครื่องมือลักษณะเดียวกันกับ DW ในการปั่นหุ้น

“ในอนาคตถ้าตลาดทุนไทยผลักดันเครื่องมือเหล่านี้มาก ๆ ก็อาจเผชิญปัญหาเดียวกัน”

ลงทุนตามปัจจัยพื้นฐานดีที่สุด

ขณะที่ “วัชระ แก้วสว่าง” หรือเสี่ยป๋อง นักลงทุนรายใหญ่ มองว่า หากกระแส GameStop ลุกลามไปสู่ตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลกจะกระทบหนัก ทำให้เกิดความผันผวนสูง โดยตอนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐตกอยู่ในภาวะการใช้อารมณ์ในการซื้อขายหุ้นเป็นส่วนใหญ่

ส่วนที่มองกันว่าอาจจะเกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นนั้น มองว่า ทุกวันนี้ก็เกิดฟองสบู่อยู่แล้ว เพราะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นมาจากเงินไหลเข้า ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่ล้นอยู่ในระบบ หลังจากนักลงทุนต้องเผชิญภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก โดยหุ้นปรับขึ้นแบบไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง

“ส่วนตัวผม เชื่อว่าหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้ต้องมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้นักลงทุนรอดจากภาวะผันผวนได้ คือต้องมีวินัยและปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ถ้ากราฟสวย ก็กลับไปซื้อได้

แต่ถ้ากราฟมีสัญญาณขายชัดเจน ก็ต้องถอยออกมา แต่ในโลกโซเชียลระหว่างที่ราคาหุ้นสะวิง เราก็ไม่รู้ว่าจะมีใครได้ใครเสีย ทั้งนี้ ถ้าจะเล่นหุ้นเก็งกำไรพวกนี้ ต้องกันเงินบางส่วนที่เสียได้เอาไปเล่น อย่าเอาเงินทั้งชีวิตไปเล่นเด็ดขาด”

ฟาก “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า GameStop เป็นพฤติกรรมที่ลอกเลียนแบบไม่ยาก แต่ถ้าส่อพฤติกรรมการปั่นหุ้น หรือมีการชักชวนโดยไม่มีเหตุผล ก็ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน ก.ล.ต.มีกฎหมายที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์ใหม่

“ต้องเตือนนักลงทุนว่าอย่าตกเป็นเหยื่อ ควรใช้วิจารณญาณว่าหุ้นต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการช่วย ๆ กันซื้อ แล้วราคาจะยืนอยู่ตรงนั้นได้ตลอดเวลา เพราะพอหมดแรงซื้อเมื่อไหร่ ราคาก็ร่วงลงมา ซึ่งถ้าเราเป็นคนสุดท้ายที่ติดอยู่ก็จะเป็นปัญหา”

ล่าสุด เริ่มมีการวิเคราะห์กันว่ากรณีหุ้น GameStop จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่นักลงทุนรายย่อยทั้งหมดที่เข้าไปไล่ราคา แต่มีเงินของนักลงทุนสถาบันตามเข้ามาด้วย ประเมินได้จากปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐช่วงที่ราคาหุ้น GameStop ขึ้นไปติดท็อปสูงสุด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เงินของนักลงทุนรายย่อยเพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานกำกับตลาดทุนในสหรัฐกำลังหาทางจัดการอยู่

สุดท้ายแล้ว อาจจะต้องมีคนถูกลงโทษ รวมถึงทางการประเทศต่าง ๆ ก็คงพยายามหาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก แต่ไม่ว่าอย่างไร โลกก็ได้บันทึก “GameStop” ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว