ธปท. หารือคลังเคาะ “โกดังเก็บหนี้-ซอฟต์โลน” ย้ำกลไกราคาต้องเป็นธรรม

แบงก์ชาติ

ธปท.เร่งหารือกระทรวงการคลัง-แบงก์-ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เคาะมาตรการช่วยเหลือกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม-ภาคบริการหลังถูกซ้ำเติมโควิด-19 ระลอกใหม่ กระทบสภาพคล่อง-รายได้หด เผยกลไก “Asset Warehousing” ต้องแก้ปัญหาตรงจุด-ใช้ได้จริง-ยืดหยุ่น-คำนวณราคาเป็นธรรมทั้งเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ยันไม่มองข้ามซอฟต์โลน ผู้กู้-ผู้ให้กู้ต้องรับเสี่ยงได้

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนายการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจ และสถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันออกแบบกลไกการแก้ปัญหาของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ โกดังเก็บหนี้ หรือ Asset Warehousing โดยจะต้องเป็นกลไกแก้ปัญหาที่ตรงจุด และสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อให้ผู้ให้กู้และคนกู้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจภาคการท่องเที่ยวมีการปรับตัวต่อเนื่องจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ทั้งการปรับลดต้นทุนการดำเนินงาน และการทยอยปรับลดการจ้างงาน อย่างไรก็ดี การระบาดรอบใหม่ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบมานานเริ่มขาดสภาพคล่อง ดังนั้น จากการสอบถามผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือ คือ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ และมาตรการ Co-Pay ที่มาช่วยรักษาการจ้างงาน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการบางส่วนแล้ว

สำหรับมาตรการทางการเงินที่จะเข้ามาช่วย รูปแบบกลไกการช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ธุรกิจที่ยังสามารถไปต่อได้ หรือต้องการฟื้นฟูกิจการ แต่ขาดสภาพคล่อง เพราะเจ้าหนี้ระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ โดยการเติมสภาพคล่องใหม่เพื่อรักษาการจ้างงาน ดังนั้น ธปท.จะต้องทำให้ผู้กู้ยืมและผู้ให้กู้มาเจอกัน เนื่องจากผู้กู้ยืมต้องสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น วงเงินสูงขึ้น ระยะเวลากู้ยืมยาวขึ้นในต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป ขณะที่ผู้ให้กู้ จะต้องได้รับผลตอบแทน และสัดส่วนการค้ำประกันที่เหมาะสมกับความเสี่ยง ทำให้ กลไกที่จะเข้ามาดูแลจะต้องมีความยืดหยุ่นสามารถรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปรวดเร็วได้ โดยภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

และ 2.กลุ่มธุรกิจที่มีภาระหนี้ที่มีหลักประกัน แต่อุปสงค์ฟื้นตัวช้า ทำให้ขาดรายได้ เพื่อจัดการภาระหนี้ โดยหลักการลดภาระหนี้สำหรับธุรกิจที่ต้องการรอการฟื้นตัว ซึ่งกลไกช่วยเหลือมีหลายแบบ แต่ที่มีการพูดถึงที่เข้ามาช่วย คือ การทำ “Asset Warehousing” แม้ว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ปรับโครงสร้างหนี้ได้ แต่ภาระหนี้ค่อนข้างสูง แม้ว่าจะมีการพักหนี้ แต่จะทำให้หนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะเกินกว่ามูลค่าหลักประกัน เช่น กลุ่มโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ดังนั้น หลักการช่วยเหลือผ่าน “Asset Warehousing” โดยลลูกหนี้ตัดหนี้ และนำเอาหลักประกันสินทรัพย์ไปวางไว้กับสถาบันเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้จะพักหนี้ไปเลย ซึ่งในระหว่างทางลูกหนี้อาจจะขอเช่าเพื่อทำธุรกิจต่อได้ แต่ก่อนจะทำ “Asset Warehousing” จะต้องมีการตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ว่าสามารถซื้อคืนได้ และมีภาระการดูแลสินทรัพย์ โดยอัตราการซื้อคืนจะต้องไม่หนักเกินไป ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้ลูกหนี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และสินทรัพย์ไม่เสื่อมค่า รวมถึงทำให้ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และเกิดการเทขายสิทนทรัพย์ในจำนวนมาก ซึ่งอาจจะกระทบต่อราคาสินทรัพย์ในตลาดที่อาจปรับลดลงได้

“หลักเกณฑ์การทำ Asset Warehousing ที่สำคัญจะต้องมีการคำนวณราคาที่เป็นธรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ และมีกลไกความสมัครใจของลูกหนี้ในการฝากสินทรัพย์ และเจ้าหนี้ที่รับฝากสินทรัพย์ด้วย ซึ่งมาตรการนี้มีหลายแบบ และสามารถเป็นมาตรการเพิ่มเติมในการช่วยเหลือลูกหนี้ในภาวะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยตอนนี้ธปท.อยู่ระหว่างหารือกระทรวงการคลังและผู้ประกอบการ เพื่อให้การออกแบบกลไกได้ตรงจุดและใช้ได้จริง ซึ่งความชัดเจนจะออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อให้เดินหน้าต่อปได้ เช่นเดียวกับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน) ไม่ได้ถูกมองข้าม แต่กำลังหารือและพูดคุยหลายหน่วยงาน”