“สมาคมตลาดตราสารหนี้” เผยบอนด์ยีลด์ไทยกลับสู่ระดับก่อนโควิดแล้ว

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” เผยบอนด์ยีลด์ไทยกลับสู่ระดับก่อนโควิดที่ 1.8% จับตารัฐบาลออก Bond Switching ส่อดันยีลด์พุ่ง-เก็ง กนง.คงดอกเบี้ย ช่วงวันที่ 24 มี.ค.64

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) เปิดเผยว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Interest Rate Expectation Index) ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 24 มี.ค.64 ที่จะถึงนี้ ผลสำรวจในช่วงวันที่ 24 ก.พ.64 อยู่ที่ระดับ 47 ซึ่งเกือบ 100% คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อถ้าเทียบประเทศกลุ่มเกิดใหม่(EM) และประเทศอาเซียน โดยปัจจัยที่ให้น้ำหนักมากที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจไทย ภายใต้ดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำจะเอื้อในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยีลด์) อายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี อยู่ในโซนการปรับเพิ่มขึ้นยาวไปจนถึงสิ้นไตรมาส 1/64 ซึ่งปัจจุบันบอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.12% จากช่วงวันสำรวจอยู่ที่ 0.89% ขณะที่บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมาทะลุ 1.8% ใกล้เคียงระดับเมื่อเดือน พ.ย.62 (ก่อนเกิดระบาดโควิด) จากช่วงวันสำรวจอยู่ที่ 1.5%

โดยปัจจัยให้น้ำหนักทิศทางบอนด์ยีลด์มากที่สุดคือ ดีมานด์และซัพพลายในตลาด โดยส่วนใหญ่เป็นซัพพลายพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกมา ซึ่งตลาดค่อนข้างมีความกังวลจากการที่รัฐบาลมีการกู้เงินจำนวนมากสำหรับการใช้จ่าย ทำให้เป็นห่วงซัพพลายของพันธบัตรที่จะออกมาส่งผลให้บอนด์ยีลด์จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก

โดยปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลประกาศแผนการออกพันธบัตรรัฐบาล วงเงินรวม 6.5 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 1/64 (ต.ค.-ธ.ค.63) มีการออกไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาท แต่ตลาดยังมีความกังวลอยู่ว่าแผนการประมูลพันธบัตรในช่วงเดือน เม.ย.64 หากออกมามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะมีการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนตราสารหนี้รุ่นเดิมที่นักลงทุนถือครองอยู่(Bond Switching) ซึ่งจะทำให้มีการเติมซัพพลายของพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นอีก อาจจะทำให้ตัวบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นได้อีก

อีกส่วนหนึ่งคือความกังวลของบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงเงินทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์) ไหลออก อาจทำให้กดดันบอนด์ยีลด์ปรับขึ้นได้อีก

“ถ้าดูมูฟเม้นท์ของบอนด์ยีลด์ อายุ 5 ปี และ 10 ปี หากย้อนกลับไปดูในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จริงๆ ถือว่ายังอยู่ในวัฏจักรค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบในอดีตซึ่งสูงถึงระดับ 5-6% ซึ่งเป็นช่วงยุคก่อน QE” นางสาวอริยากล่าว

ด้านส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ (Cerdit Spread) ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่บวกเพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งอาจจะทำให้บางเครดิตเรตติ้งต้องจ่ายต้นทุนดอกเบี้ยที่แพงขึ้น เช่น หุ้นกู้เรตติ้ง BBB ถ้าออกหุ้นกู้ระยะ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 5.30% จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 4.85% และ 4.19% เมื่อสิ้นปี 62

ในขณะที่หุ้นกู้เรตติ้ง AAA ถ้าออกหุ้นกู้ระยะ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8% แพงขึ้นจากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 1.52% แต่ไม่ต่างจากช่วงก่อนเกิดโควิดมากนัก เช่นเดียวกันหุ้นกู้เรตติ้ง AA ถ้าออกหุ้นกู้ระยะ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1.89% แพงขึ้นจากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 1.72% และหุ้นกู้เรตติ้ง A ถ้าออกหุ้นกู้ระยะ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 3.15% แพงขึ้นจากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 2.74%

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังของนักลงทุนที่จะลงทุนหุ้นกู้ต่ำกว่าระดับลงทุน แต่ก็ยังสามารถที่จะลงทุนในหุ้นกู้เครดิตสูงๆ ได้อยู่

ส่วนทิศทางฟันด์โฟลว์ในตลาดบอนด์ ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.64 ต่างชาติขายสุทธิ 500 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน(YTD) ต่างชาติขายสุทธิเหลือแค่ 500 ล้านบาท จากสิ้นเดือน ก.พ.ที่ขายสุทธิกว่า 5,100 ล้านบาท เพราะฉะนั้นบอนด์ยีลด์ที่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้สัมพันธ์กับฟันด์โฟลว์ว่าจะมีการไหลออกแต่อย่างใด

โดยปัจจุบันเม็ดเงินลงทุนต่างชาติสิ้นเดือน ก.พ.64 ถือครองบอนด์ไทยอยู่ที่ 848,898 ล้านบาท ลดลงจากเดือน ม.ค.64 ที่ 852,992 ล้านบาท และอายุเฉลี่ยลดลงเป็น 9.41 ปี