บลจ.บีแคป เล็งออก 10 กองทุนใหม่ปีนี้ โฟกัสลงทุนหุ้นต่างประเทศ

บลจ.บีแคป ตั้งเป้า AUM โต 1 แสนล้านบาท ในอีก 3 ปี เล็งเปิด 10 กองทุนใหม่ในปีนี้ โฟกัสลงทุนหุ้นต่างประเทศ ชี้หุ้นไทยยังปรับขึ้นได้ต่อในปี’64 ปัจจัยหนุนจากโควิดใกล้จบ-มีวัคซีน-สินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปรับขึ้นราคา แนะลงทุนหุ้นโครงสร้างพื้นฐาน-อสังหาริมทรัพย์ รับอานิสงส์เงินเฟ้อ

นางเมธ์วดี ประเสริฐสินธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางกอกแคปปิตอล (BCAP) หรือบีแคป เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทมีแผนเปิดกองทุนใหม่ 10 กองทุนที่จะเน้นกองทุนลงทุนหุ้นในต่างประเทศ อีกทั้งบริษัทจะขยาย Selling Agent เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4-5 ราย จากปัจจุบันมีอยู่ 4 ราย

ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บล.บัวหลวง บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) และบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด (บลน.ฟินโนมีนา)

เมธ์วดี ประเสริฐสินธนา

พร้อมกันนี้ บริษัทตั้งเป้า มูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) ในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี  2565-2567) จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% AUM ขยายแตะ 1 แสนล้านบาท โดยในปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% มาเป็น 6.2 หมื่นล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่ระดับ 5.2 หมื่นล้านบาท โดยเติบโตจากธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) ที่คาดจะระดมเงินได้ 5 พันล้านบาท รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล

“ในปี 63 ที่มี AUM 5.2 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อน ที่อยู่ระดับ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตจากทุกธุรกิจ โดยส่วน Mutual Fund มีจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 95% เทียบกับ สิ้นปี 62 เทียบกับภาพรวมตลาดกองทุนรวมที่ลดลง 7% ถือว่าบลจ.บีแคป มีการเติบโตที่สวนทางกับภาพรวมอุตสาหกรรม กองทุนส่วนบุคคล 2.8 หมื่นล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1.8 หมื่นล้านบาท”

นายธนาวุฒิ พรโรจนางกูร รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางกอกแคปปิตอล (BCAP) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ประเมินว่าดัชนียังสามารถปรับระดับขึ้นได้ต่อ หลังมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยสภาพคล่องล้นตลาด เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลก มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

อาทิ สหรัฐ ที่อนุมัติวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วกว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินสดในมือของคนยังเหลืออยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพลเมืองที่ได้รับการแจกเงิน อย่างสหรัฐที่แจกเงินรอบแรกอาจยังใช้เงินไม่หมด ก็มีรอบ 2 เข้ามาแล้ว

ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร

พร้อมกันนี้ เริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว เนื่องจากในหลายประเทศเริ่มกระจายฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับพลเมืองในประเทศตนเองแล้ว ทำให้เศรษฐกิจอยู่ระหว่างการปรับตัวดีขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จึงประเมินว่าด้วยแรงหนุนจากทั้ง 2 ปัจจัยหลัก จะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงเหมือนช่วงการระบาดหนัก ๆ มีโอกาสเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ ปัจจัยบวกหลัก คือ การที่โควิด-19 ใกล้จบลงแล้ว เนื่องจากมีวัคซีนต้านไวรัสเข้ามา สะท้อนความหวังที่มีเพิ่มขึ้น ผ่านการปรับขึ้นราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ซึ่งแม้ปัจจัยบวกจะมีเข้ามาแล้ว แต่ปัจจัยลบก็ยังอยู่เช่นกัน โดยให้น้ำหนักไปที่คุณภาพของสินทรัพย์ ที่อาจด้อยคุณภาพลดลง เป็นปัจจัยลบหลักที่มีผลกดดันการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นไทย

ส่วนปัจจัยกดดันเฉพาะภายในประเทศไทยนั้น ต้องจับตา 2 เรื่องสำคัญคือ การกระจายฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ และการกลับมาเปิดประเทศใหม่อีกครั้ง เนื่องจากการปิดประเทศ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นสัดส่วนที่สูง เพราะธุรกิจส่วนมากในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการบริการ ทำให้หากยังปิดเมืองต่อไป จะมีหลายธุรกิจที่ยืนอยู่ไม่ไหว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่เห็นการออกมาขอให้รัฐบาลเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ ผ่านการเสริมสภาพคล่องต่าง ๆ

“ส่วนปัจจัยในประเทศอื่น ๆ อาทิ การชุมนุมแสดงออกทางการเมือง ประเมินว่า หากสถานการณ์ยังไม่บานปลายจนถึงขั้นเลือดตกยางออก แรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยก็ยังมีน้ำหนักไม่มากนัก” นายธนาวุฒิ กล่าว

นายธนาวุฒิ กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์ที่แนะนำในการลงทุนคือ เข้าสะสมเมื่อตลาดย่อตัวลง และต้องเลือกเข้าในหุ้นรายตัว เน้นในหุ้นที่ยังปรับขึ้นน้อยกว่าภาพรวมตลาด อาทิ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน รวมถึงหุ้นที่ได้อานิสงส์จากเงินเฟ้อที่จะปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังฟื้นตัวขึ้นมาได้ไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้แนะนำให้นักลงทุนกลับมาเพิ่มน้ำหนักและเน้นลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น หลังจากปี 2563 แนะนำให้ลดน้ำหนักไปต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพราะขณะนี้หุ้นไทยจะทยอยปรับตัวขึ้น รวมถึงมองว่าการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ยังค่อนข้างเหนื่อย

ส่วนตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี (Bond Yield) ปรับตัวขึ้นมองว่าเป็นการสะท้อนเศรษฐกิจที่รีบาวด์หลังเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจบลง โดยคาดว่า Bond Yield จะเคลื่อนไหวในช่วง 1.4-1.7% ในช่วง 3-6 เดือน