
คอลัมน์ Smart SMEs ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
“ผู้ที่อยู่รอดไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก” ที่มาของข้อความนี้มาจาก ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่เราท่านหลายคนน่าจะรู้จักกันดี ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการอันโด่งดัง
ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านพ้น ข้อความนี้ก็ได้พิสูจน์ความเป็นจริงเรื่อยมา ทั้งยังเป็นข้อความที่เป็นหนึ่งในสุดยอดคำคมที่สร้างแรงบันดาลใจและแนวทางให้แก่ผู้คนมากมายที่ต้องประสบพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงแทบในทุกเรื่อง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- นายกฯตั้งบอร์ดใหญ่คุมแจกเงิน 10,000 บาท ห้าง-โมเดิร์นเทรดรับอานิสงส์
- กรมอุตุฯเตือน “พายุดีเปรสชั่น” เข้าไทย รับมือฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน
change หรือ “การเปลี่ยนแปลง” เป็นคำสั้น ๆ แต่ทรงพลังและมีความหมาย ด้วยสัจธรรมที่ว่าทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องประสบพบเจอ คำถามคือ เราจะจัดการหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไร
และในหลายครั้งผู้คนมักจะพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะด้วยความประมาท การยึดติดกับสิ่งเดิม การมองไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่กระทบกับเราได้ทันท่วงที
โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่ง เพราะในการจัดการหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ มักจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมายตั้งแต่เจ้าของกิจการ ผู้บริหารจนถึงระดับพนักงานปฏิบัติการกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องยากทีเดียวนัก ในการจัดการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งแรกเลยก็คือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น องค์กรเองก็จำเป็นต้องปรับหรือเปลี่ยนด้วยเช่นกัน การปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น มีแนวคิดที่เรียกว่า change management หรือการบริหารการเปลี่ยนแปลง
การบริหารการเปลี่ยนแปลง เป็นการบริหารที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมอันเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้นำองค์กรในการริเริ่ม ซึ่งต้องคำนึงในหลายแง่มุมทั้งในเรื่องการกำหนดวิสัยทัศน์ การบริหารการจัดการ
และที่สำคัญที่มักจะถูกมองข้ามก็คือเรื่องวัฒนธรรมองค์กร โดยจะต้องมีการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมในแต่ละช่วง ได้แก่ ช่วงของการสร้างวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนแปลง ช่วงของการพิจารณาอุปสรรคที่จะขัดขวางการเปลี่ยนแปลง ช่วงการดำเนินการเปลี่ยนแปลง และช่วงการประเมินผลการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งผู้นำจะต้องนำทักษะที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการบริหารงานและบริหารบุคคล ความสามารถวิเคราะห์ปัญหาและโอกาส ความสามารถด้านมนุษยสัมพันธ์และการตัดสินใจ ประกอบกับบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้รู้ตระหนัก
ทำความเข้าใจหรือคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น บทบาทการเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง บทบาทการเป็นผู้นำหรือตัวแทนในการเปลี่ยนแปลง
โดยบทบาททั้งสามประการนี้จะต้องกระทำผ่านการชี้แจงสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การกำหนดวิสัยทัศน์ การบริหารการจัดการ กำหนดกลยุทธ์และทรัพยากร และการสร้างวัฒนธรรมองค์กร
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพราะเชื่อว่าปัจจุบันธุรกิจอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ หากยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ท่ามกลางกระแสแห่งการดิสรัปชั่นและความไม่แน่นอนในหลากหลายอุตสาหกรรม
จึงได้มีการจัดทำคลิปวิดีโอ ซีรีส์ “THE CHANGE MASTER” ภายใต้บริการ Krungsri Business Empowerment ในการนำเสนอความรู้และแรงบันดาลให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเชิญผู้บริหารสูงสุดจากหลายองค์กรชั้นนำที่สามารถปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ความสำเร็จ มาร่วมแบ่งประสบการณ์และมุมมองผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก Krungsri Business Empowerment
ซึ่งเชื่อว่า “THE CHANGE MASTER” จะเป็นองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการนำมาปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อให้สามารถอยู่รอดเติบโตได้บนโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา