ส่องรายได้-ทิศทางธุรกิจ MK ในวันถูกโซเชียลถล่ม #แบนmkและยาโยอิ

เปิดรายได้เอ็มเคในวันถูกโซเชียลถล่ม

เปิดรายได้-ทิศทางการทำธุรกิจของร้านอาหารดัง “เอ็มเค” หลังถูกโซเชียลถล่มด้วยการติดแฮชแท็ก #แบนmkและยาโยอิ ปมสนับสนุนช่อง Top news 

วันที่ 22 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีชาวเน็ตขุดโพสต์ของ นายสถาพร เกื้อสกุล หนึ่งในผู้ประกาศข่าวช่อง Top News ที่โพสต์ภาพอาหารจากร้าน MK Restaurants ระบุข้อความว่า “ขอบคุณ MK ที่ดูแล TOP NEWS เป็นอย่างดี สุขเอ่อล้นทุกวันที่เอ็มเค” จนทำให้เกิดแฮชแท็ก #แบนmkและยาโยอิ ติดอันดับเทรนด์ยอดนิยมในประเทศไทย

สำหรับแฮชแท็กดังกล่าว ความเห็นส่วนใหญ่ระบุว่า จะเลิกอุดหนุนแบรนด์ดัง หลังพบว่าเป็นผู้สนับสนุนให้กับช่อง Top News อีกทั้งยังมีการแจ้งชื่อร้านอาหารที่อยู่ในเครือของ MK ทั้งหมด ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลหุ้นบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M หลังมีข่าวในโซเชียลพบว่า ณ เวลา 13.12 น. วันนี้ ราคาล่าสุดอยู่ที่ 57.00 บาท ปรับตัวลดลง 0.44% ขณะที่ราคาปิดก่อนหน้าอยู่ที่ 57.25 บาท

ตรวจสอบข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 10 มีนาคม 2564 พบว่า 6 อันดับแรก เป็นคนในตระกูล “ธีระโกเมน” และ “หาญจิตต์เกษม” นอกจากนี้ ยังมี กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว ถือหุ้นร้อยละ 2.52%, สำนักงานประกันสังคม ร้อยละ 1.93% และ กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 ร้อยละ 1.34%

ตรวจสอบงบการเงินย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 – 2563 พบว่า ปี 2560 เอ็มเค รายได้รวม 16,457.74 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,424.85 ล้านบาท, ปี 2561 รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 17,233.76 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,573.53 ล้านบาท, ปี 2562 รายได้รวมลดลงเล็กน้อยที่ 17,870.83 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,603.59 ล้านบาท

และ ปี 2563 รายได้รวมลดลงกว่า 4,000 ล้านบาท อยู่ที่ 13,655.26 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิเหลือเพียง 907.37 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเกือบ 1,700 ล้านบาท ตามเทรนด์ตลาดร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นายฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของธุรกิจร้านเอ็มเค, ยาโยอิ, มิยาซากิ, ร้านอาหารไทย ณ สยาม, ร้านอาหารไทย เลอสยาม, ร้านกาแฟเบเกอรี่เลอเพอพิท, ร้านขนมหวานเอ็มเคฮาร์เวสต์ และล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการของแหลมเจริญซีฟู้ด กล่าวในงาน ติดอาวุธ Startup&SMEs เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดโดยทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ปี 2563 ถือเป็นปีที่ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับความลำบาก

ภาคอุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบจากการค้าระหว่างประเทศ และค่าเงินบาทแข็ง ทำให้กำลังซื้อยังไม่กลับมา มิหนำซ้ำในปีนี้ยังต้องเผชิญกับสงครามการค้าระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าทำให้นักเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารที่มีสาขาในแหล่งท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องแข่งขันกับใคร ต้องแข่งกับตัวเอง ชูเรื่องคุณภาพ การให้บริการ รวมถึงควบคุมต้นทุนอย่างรัดกุม และพัฒนาต่อยอดธุรกิจไปอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2563 นายฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงแผนครึ่งปีหลังว่า บริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ แต่ยังมีเป้าหมายและต้องการจะขยายธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารขึ้นมาเอง การซื้อแฟรนไชส์มาบริหาร  รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการ เพื่อนำมาช่วยเสริมธุรกิจของเอ็มเค กรุ๊ป

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทจะชะลอการขยายสาขาของร้านอาหารเอ็มเคสุกี้ และร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ ซึ่งเป็นแบรนด์หลักไว้ก่อน และจะหันมาโฟกัสสาขาที่ทำกำไรได้ดี รวมทั้งมีนโยบายจะทบทวนการปิดสาขาที่ทำกำไรน้อย และมีค่าเช่าพื้นที่ที่สูง

“อย่างไรก็ตาม นโยบายหลักของบริษัทในปีนี้จะเน้นระมัดระวังการขยายธุรกิจมากขึ้น และเน้นการรักษากระแสเงินสด เพื่อสำรองใช้ในช่วงวิกฤต ตลอดจนการเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ ในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะเน้นการประคับประคอง องค์กร พนักงานและคู่ค้าเป็นหลัก”

ปัจจุบัน เอ็มเคมีร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอกว่า 10 แบรนด์ อาทิ เอ็มเค, ยาโยอิ, มิยาซากิ, ร้านอาหารไทย ณ สยาม, ร้านอาหารไทย เลอสยาม, ร้านกาแฟเบเกอรี่เลอเพอพิท ร้านขนมหวานเอ็มเค ฮาร์เวสต์ และร้านแหลมเจริญซีฟู้ด โดยทิศทางของทุกแบรนด์จะต้องเน้นการเพิ่มน้ำหนักช่องทางขายออนไลน์ให้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มเมนูที่หลากหลาย ในราคาที่คุ้มค่า ควบคู่กับทำแคมเปญการตลาด ร่วมกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ