“เอ็มเค สุกี้” แตะเบรกสาขา โฟกัสร้านทำกำไร-ประคองตัว

เอ็มเค ชะลอแผนขยายสาขา

ธุรกิจร้านอาหาร 4 แสนล้านเดือด กระหน่ำโปรฯ แรงแย่งลูกค้า แม่ทัพใหญ่ “เอ็มเค กรุ๊ป” กางแผนสู้พิษโควิด-19 ชะลอลงทุนโปรเจ็กต์ใหญ่และแผนขยายสาขาแบรนด์หลัก “เอ็มเค สุกี้-ยาโยอิ” โฟกัสสาขาทำกำไร ทบทวนปิดสาขากำไรน้อย เปิดแผนเตรียมเปิด “แหลมเจริญซีฟู้ด” เพิ่มอีก 4-6 สาขา เน้นต่างจังหวัด พร้อมรวมระบบหลังบ้าน เดินหน้ารุกธุรกิจโลจิสติกส์ “เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์” เล็งขยายฐานลูกค้าเครื่องสำอาง-เครื่องมือแพทย์

นายฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านเอ็มเคสุกี้, ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ, ร้านมิยาซากิ, แหลมเจริญซีฟู้ด ฯลฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดร้านอาหารยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยธุรกิจร้านอาหารเป็นตลาดที่ใหญ่ มีร้านอาหารหลากหลายประเภท และมีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 4 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ตลาดก็ยังมีช่องว่างอีกมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และทางการได้ประกาศปิดห้างสรรพสินค้าและสถานบริการต่าง ๆ รวมถึงร้านอาหาร เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เชนร้านอาหารรายเล็กจำนวนหนึ่งเริ่มทยอยปิดตัวลง เนื่องจากแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว ขณะที่ร้านอาหารรายใหญ่ทุกค่ายต้องเร่งปรับตัว โดยเน้นการบริหารจัดการต้นทุนอย่างรัดกุม

ร้านอาหารแข่งขันรุนแรง

นายฤทธิ์กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ห้าง ร้านอาหาร กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ทุกค่ายต่างเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างหนัก เพื่อดึงกระแสเงินสดเข้าร้าน โดยผู้ประกอบการทุกรายต่างเน้นแผนการตลาดทั้งจัดโปรโมชั่นลดราคาในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะซื้อ 1 แถม 1 เพื่อกระตุ้นและจูงใจผู้บริโภค ทำให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างรุนแรง

ขณะนี้รวมรายได้ของธุรกิจร้านอาหารเอ็มเค กรุ๊ป ประมาณ 90% มาจากการที่ลูกค้าเข้ามานั่งรับประทานในร้าน หรือ drive-in ส่วนอีก 10% มาจากบริการดีลิเวอรี่ โดยในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ร้านอาหารเปิดให้บริการได้เฉพาะช่องทางซื้อกลับบ้าน (take home) และช่องทางดีลิเวอรี่ที่มียอดสั่งซื้อเติบโต 3-4 เท่า และทดแทนรายได้หลักที่หายไป แต่เป็นเพียงรายได้ส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับที่เคยได้รับจากสถานการณ์ปกติ และหลังจากที่ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบ ขณะนี้สัดส่วนรายได้จากการนั่งทานในร้านเริ่มกลับมาประมาณ 70-80% แต่ยังคงถูกจำกัดด้วยเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)

อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกค้าเริ่มกลับเข้ามานั่งรับประทานในร้าน สิ่งที่พบตามมาก็คือ สัดส่วนดีลิเวอรี่เริ่มลดลง เนื่องจากพฤติกรรมการทานอาหารของผู้บริโภคยังนิยมมาที่ร้าน แม้ยังมีความตื่นกลัวหรือมีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยอยู่บ้าง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทั้งด้านความสะอาดและความปลอดภัย ตลอดจนซัพพลายเออร์ที่ส่งอาหารจะต้องมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

โฟกัสสาขาทำกำไร

นายฤทธิ์กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง บริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ แต่ยังมีเป้าหมายและต้องการจะขยายธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารขึ้นมาเอง การซื้อแฟรนไชส์มาบริหาร  รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการ เพื่อนำมาช่วยเสริมธุรกิจของเอ็มเค กรุ๊ป อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทจะชะลอการขยายสาขาของร้านอาหารเอ็มเคสุกี้ และร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ ซึ่งเป็นแบรนด์หลักไว้ก่อน และจะหันมาโฟกัสสาขาที่ทำกำไรได้ดี รวมทั้งมีนโยบายจะทบทวนการปิดสาขาที่ทำกำไรน้อย และมีค่าเช่าพื้นที่ที่สูง

“อย่างไรก็ตาม นโยบายหลักของบริษัทในปีนี้จะเน้นระมัดระวังการขยายธุรกิจมากขึ้น และเน้นการรักษากระแสเงินสด เพื่อสำรองใช้ในช่วงวิกฤต ตลอดจนการเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ ในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะเน้นการประคับประคอง องค์กร พนักงานและคู่ค้าเป็นหลัก”

พร้อมกันนี้ นายฤทธิ์ยังกล่าวถึงร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ด ที่บริษัทได้ทุ่มงบฯกว่า 2 พันล้านบาท ซื้อกิจการมาเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา มีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 6-7 สาขา จากปัจจุบันมีประมาณ 20 สาขา แต่ทั้งนี้จะต้องรอให้เหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ โดยจะเน้นไปเปิดในต่างจังหวัด และจะเน้นในเรื่องของทำเลที่ตั้งของร้านเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ภายในเดือนธันวาคมนี้ยังมีแผนจะนำระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ ของแหลมเจริญ ไม่ว่าจะเป็น บัญชี ครัวกลาง และโลจิสติกส์ มารวมกับหน่วยงานของเอ็มเค กรุ๊ป

ปัจจุบัน เอ็มเคมีร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอกว่า 10 แบรนด์ อาทิ เอ็มเค, ยาโยอิ, มิยาซากิ, ร้านอาหารไทย ณ สยาม, ร้านอาหารไทย เลอสยาม, ร้านกาแฟเบเกอรี่เลอเพอพิท ร้านขนมหวานเอ็มเค ฮาร์เวสต์ และร้านแหลมเจริญซีฟู้ด โดยทิศทางของทุกแบรนด์จะต้องเน้นการเพิ่มน้ำหนักช่องทางขายออนไลน์ให้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มเมนูที่หลากหลาย ในราคาที่คุ้มค่า ควบคู่กับทำแคมเปญการตลาด ร่วมกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ

ส่วนเอ็มเคสุกี้ที่เป็นแบรนด์หลัก จะมีการจัดแคมเปญการตลาดเป็นระยะ ๆ โดยจะเน้นไปที่ช่องทางดีลิเวอรี่ อาทิ ชุดสุกี้สุดคุ้ม เริ่มต้นราคา 299 บาท และชุดเป็ดย่าง ลดราคากว่า 50% หรือซื้อ 1 แถม 1 ตลอดจนการซื้อชุดสุกี้แถมหม้อต้มไฟฟ้า มูลค่า 590 บาท เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและเพิ่มสีสันให้กับตลาด

รุกธุรกิจโลจิสติกส์

นายฤทธิ์ยังกล่าวถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด บริษัทผู้ให้บริการคลังสินค้าแบบเย็น ขนส่งวัตถุดิบอาหารแช่เย็นและอาหารแช่แข็ง ที่เกิดจากการร่วมทุนกับบริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ว่าจะเน้นเจาะกลุ่มธุรกิจในลักษณะบีทูบี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ผลิตอาหาร รวมถึงห้างค้าปลีกต่าง ๆ และต่อไปเตรียมขยายการให้บริการกลุ่มลูกค้ารายย่อย หรือบีทูซี รวมทั้งมีแผนจะขยายบริการให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การขยายไปยังกลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง และเครื่องมือการแพทย์ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไตรมาส 1/2563 ที่ผ่านมา บริษัท เอ็มเคฯและบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและบริการ 3,795 ล้านบาท ลดลง 12.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กรุงเทพมหานครสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว รวมถึงร้านอาหารให้เปิดขายได้เฉพาะสั่งซื้อกลับบ้าน ส่งผลให้รายได้ลดลง ถึงแม้ว่าสัดส่วนยอดขายของการซื้อกลับบ้านจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้ของการทานในร้านได้

‘เอ็มเค’ แตะเบรกสาขา โฟกัสร้านทำกำไร-ประคองตัว