ธปท. เปิดถาม-ตอบ “มาตรการฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้ 3.5 แสนล้าน

แบงก์ชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำคำถาม-คำตอบของร่างมาตรการที่นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 จากในงาน media briefing เรื่อง มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2564

ภาพรวมมาตรการ

Q1 ธปท. คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ามาตรการครั้งนี้จะสามารถพยุงการจ้างงานได้หลายแสนคน และช่วยบริษัทให้มีสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจได้อีกหลาย 10,000 บริษัท รวมถึงช่วยลดความเสี่ยง GDP at risk ได้

Q2 ธปท. กังวลหรือไม่ ว่า การพักทรัพย์พักหนี้นั้น สง. จะเลือกช่วยเหลือเฉพาะธุรกิจที่เข้มแข็งเป็นหลัก ทำให้การช่วยเหลือไปไม่ถึงธุรกิจที่อ่อนแอ

สถาบันการเงิน (สง.) จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยพิจารณามาตรการที่เหมาะสมตามความจำเป็นของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ดังนั้น โดยทั่วไป ธุรกิจที่เข้มแข็งน่าจะไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ซึ่ง สง. อาจจะให้ความช่วยเหลือด้วยการเพิ่มสภาพคล่องตามมาตรการในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู

นอกจากนี้ สง. น่าจะมีแรงจูงใจที่จะช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก เพื่อลดโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสีย ทั้งนี้ ธปท. กำหนดให้ สง. ส่งรายงานความคืบหน้าของการให้สินเชื่อตามมาตรการนี้เป็นประจำทุกเดือน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการติดตามและประเมินผลของมาตรการในด้านที่สำคัญต่าง ๆ พร้อมกำชับให้ สง. เร่งกระจายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงทั้งลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม

Q3 มาตรการจะสามารถออกใช้ได้เมื่อไหร่ และจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันทั้ง 2 มาตรการหรือไม่

ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนการตรากฎหมาย โดยทางการจะดูแลให้สามารถออกใช้ได้เร็วที่สุด ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะมีผลบังคับใช้พร้อมกัน

Q4 เมื่อ สง. ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือตามมาตรการแก่ลูกหนี้แล้ว ยังต้องผ่านการพิจารณาของ ธปท. อีกหรือไม่

เนื่องจากมาตรการนี้เกี่ยวข้องกับการขอรับสภาพคล่องจาก ธปท. ดังนั้น สง. จึงต้องขออนุมัติสินเชื่อโดยการส่งข้อมูลของลูกหนี้ที่จะให้ความช่วยเหลือมาที่ ธปท. เพื่อพิจารณา ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลให้ความช่วยเหลือถึงกลุ่มที่จำเป็น ตลอดจน ธปท. จะดูแลให้กระบวนการเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด

Q5 ลูกหนี้ที่อยากเข้าร่วมมาตรการต้องทำอย่างไร

เมื่อมาตรการนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ลูกหนี้สามารถติดต่อกับ สง. ได้โดยตรง และหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ call center ของ ธปท. ที่โทร. 02-283-6112 หรือ email : [email protected]

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ

Q6 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมี บสย. เป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งต่างจากกลไกการค้ำประกันตาม soft loan เดิมใช่หรือไม่

การค้ำประกันในครั้งนี้จะต่างจากการค้ำประกันตาม soft loan เดิม โดยรูปแบบที่ดำเนินการผ่านกลไกการค้ำประกันโดย บสย. ซึ่งเป็นรูปแบบที่ สง. ส่วนใหญ่มีความคุ้นเคย โดยมีลักษณะการค้ำประกันแบบ portfolio ที่มีอัตราการชดเชยสูงสุดไม่เกิน 40% และอายุการค้ำประกันระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 10 ปี

Q7 กรณีเคยได้รับ soft loan ตามมาตรการเดิม จะยังขอสินเชื่อตามมาตรการสนับสนุนในครั้งนี้ได้อีกหรือไม่

ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับ soft loan เดิมจะมีคุณสมบัติสามารถขอสินเชื่อฟื้นฟูตามมาตรการนี้ได้ โดยเมื่อรวมสินเชื่อที่ได้รับจาก soft loan เดิมกับสินเชื่อฟื้นฟูที่ได้เพิ่มเติมตามมาตรการนี้จะต้องไม่เกิน 30% ของวงเงิน ณ 31 ธ.ค. 62 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ. 64 แล้วแต่ยอดใดจะสูงกว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ

โครงการพักทรัพย์ พักหนี้

Q8 ยอดคงค้างสินเชื่อกลุ่มธุรกิจโรงแรมในระบบ สง. คิดเป็นเท่าไหร่ และคาดว่าจะมีปริมาณเท่าไหร่ที่เข้าร่วมโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้”

ปัจจุบันยอดคงค้างกลุ่มธุรกิจโรงแรมในระบบ สง. มีอยู่ประมาณ 400,000 ลบ. ซึ่งจากการหารือกับ สง. และผู้ประกอบการคาดว่าวงเงิน 100,000 ลบ. น่าจะเพียงพอต่อความต้องการ

Q9 ธปท. ได้มีการหารือกับ สง. หรือไม่ ว่ามีความสนใจในการตีทรัพย์ชำระหนี้ตามมาตรการนี้เท่าไหร่ กรณีมีความต้องการมากกว่าวงเงิน 100,000 ลบ. ธปท. จะมีการดำเนินการอย่างไร

ในการออกแบบมาตรการ ธปท. ได้หารือทั้ง สง. และผู้ประกอบการ เพื่อประมาณการวงเงินที่จะเพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ดี การเข้าร่วมมาตรการจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้ง สง. และ ลูกหนี้ โดย สง. อาจพิจารณาจากศักยภาพของทรัพย์และความตั้งใจในการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ ทั้งนี้ สามารถย้ายวงเงินระหว่าง 2 มาตรการได้ ภายใต้วงเงินรวมไม่เกิน 350,000 ลบ. หากมีความจำเป็น และได้รับอนุมัติจาก ครม.

Q10 ธปท. กำหนดนิยามของ SMEs ที่สามารถตีโอนทรัพย์ชำระหนี้หรือไม่

สำหรับโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ไม่ได้มีการกำหนดว่าธุรกิจที่จะเข้าร่วมจะต้องเป็น SMEs เท่านั้น แต่จะพิจารณาจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และมีทรัพย์เป็นหลักประกันของสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจกับ สง. ก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้

Q11นอกจากธุรกิจโรงแรม มีธุรกิจอื่นใดที่สามารถเข้าร่วม โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” บ้าง

ธปท. ไม่ได้จำกัดประเภทธุรกิจ โดยธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และมีหลักประกันที่มีศักยภาพก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้

Q12 ธปท. กำหนดเพดานของวงเงินสนับสนุนตามโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” หรือไม่

ธปท. ไม่ได้กำหนดเพดานวงเงิน ทั้งนี้ สง. สามารถยื่นขอวงเงินสินเชื่อจาก ธปท. ได้ไม่เกินมูลค่าที่ตีโอนทรัพย์ชำระหนี้

Q13 แนวทางการคิดราคาตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ภายใต้โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เป็นอย่างไร สง. สามารถรับตีโอนทรัพย์มากกว่ามูลหนี้ได้หรือไม่

ราคาตีโอนทรัพย์ชำระหนี้จะขึ้นกับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ (สง.) และผู้ขาย (ลูกหนี้) โดยลูกหนี้จะสามารถซื้อคืนทรัพย์ด้วยราคาที่ตีโอนเช่นกัน ทั้งนี้ กรณีลูกหนี้มีทรัพย์เป็นหลักประกันหลายชิ้น สามารถพิจารณาเลือกหลักประกันที่มีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลหนี้มาตีโอนได้

Q14 กรณีครบกำหนดซื้อคืน 5 ปี แล้วลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิ สง. จะดำเนินการอย่างไร

สง.สามารถขายสินทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่นได้ หากลูกหนี้เดิมไม่ใช้สิทธิในการซื้อคืน

Q15 โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” มีการคิดค่าเช่าอย่างไร

อัตราค่าเช่าควรอยู่ในระดับต่ำ และจะถูกนำมาหักออกจากราคาซื้อคืน เช่น กรณีตีโอนทรัพย์มูลค่า 10 ลบ. จ่ายค่าเช่า 1 ลบ. ราคาซื้อคืนจะเป็น 9 ลบ. ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขโครงการ สง. สามารถคิด carrying cost เพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1%

Q16 กรณีลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ไม่เช่าทรัพย์กลับไปประกอบธุรกิจ สง. สามารถให้บุคคลอื่นเช่าได้หรือไม่

ลูกหนี้เดิมต้องได้รับสิทธิในการเช่าทรัพย์เป็นลำดับแรก อย่างไรก็ดี หากลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิ สง. สามารถนำทรัพย์ไปให้บุคคลอื่นเช่าได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้เดิมด้วย เนื่องจากมีบุคคลอื่นมาช่วยดูแลทรัพย์ไม่ให้เสื่อมโทรม และทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องจ่ายค่าดูแลทรัพย์เนื่องจากผู้เช่าทรัพย์จะรับหน้าที่ดูแลทรัพย์แล้ว

Q17 ภาครัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจรถบัสนำเที่ยวที่ไม่มีหลักประกันและ สง. ไม่ปล่อยสินเชื่อให้หรือไม่

ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวสามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ได้ โดยกรณีเป็นลูกหนี้ใหม่จะมีโอกาสได้รับวงเงินสูงสุดไม่เกิน 20 ลบ. และสำหรับกรณีลูกหนี้เดิมจะได้รับสินเชื่อไม่เกิน 30% ของวงเงิน ณ 31 ธ.ค. 62 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ. 64 แล้วแต่ยอดใดจะสูงกว่า