เงินบาท อ่อนค่าต่อเนื่อง 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์จ่ายเงินปันผล 4.7 พันล้าน

เงินบาท-ดอลลาร์

แบงก์ประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าในกรอบ 31.15-31.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร-โฟลว์เงินไหลออกจ่ายปัลผลปลายสัปดาห์กว่า 4.7 พันล้านบาท ดันค่าเงินบาทอ่อนค่าได้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (5-9 เมษายน 64) เคลื่อนไหวอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 31.15-31.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นการไหลออกของเงินปันผลในช่วงปลายสัปดาห์อยู่ที่ประมาณ 4,700 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าแตะระดับกรอบบนได้

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ จะเป็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งต้องรอดูท่าทีของการตอบรับของตลาด ส่วนไทยยังคงต้องติดตามแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ 

โดยตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 29 มีนาคม-2 เมษายน 64 พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิราว 300 ล้านบาท และตลาดพันธบัตรซื้อสุทธิ 4,700 ล้านบาท ส่งผลภาพฟันด์โฟลว์เป็นการไหลเข้าสุทธิ 4,900 ล้านบาท อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินทุนไหลเข้า แต่เห็นว่าเงินบาทอ่อนค่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีโฟลว์ไฟลออกจากบริษัทญี่ปุ่นที่ปิดปีงบประมาณ

“เงินบาทต่อดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่ายาก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลการจ่ายปันผล ซึ่งจะหนุนให้บาทอ่อน โดยจะเห็นเงินไหลออกวงเงินใหญ่ๆ อีกครั้งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมอีกทีราว 1.3 หมื่นล้านบาท อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะ 31.75 บาทต่อดอลลาร์ได้” 

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ทิศทางค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.00-31.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยชี้นำหลัก ได้แก่ ข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มี.ค. ของสหรัฐฯ คาดว่าจะออกมาบวก 6.6 แสนตำแหน่ง ทั้งนี้ หากดีเกินคาด แนวโน้มดอลลาร์จะแข็งค่า แต่หากออกมาต่ำกว่าคาดมากจะทำให้ดอลลาร์จะอ่อนค่า

“ภายในสัปดาห์หน้าธุรกรรมอาจเบาบางเนื่องในเทศกาลอีสเตอร์ ส่วนในประเทศเข้าใกล้วันหยุดสงกรานต์ วอลุ่มอาจซึมลงจับตาดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ บันทึกประชุมเฟด และดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ นอกจากข้อมูลข้างต้น ติดตามการกระจายวัคซีนและยอดผู้ติดเชื้อโควิดในกลุ่มยูโรโซน รวมถึงบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน มี.ค. และไตรมาส 1/64 พบว่า เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่มสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยมาจากแนวโน้มรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่แน่นอนสูง หรือ ล่าช้า ส่งผลให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประกอบกับมีแรงซื้อดอลลาร์ช่วงท้ายไตรมาส โดยปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าราว 3.6% เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก.พ.64 และรองลงมาจะเป็นสกุลเงินริงกิต-มาเลเซีย อ่อนค่าราว 2.2% และสกุลเงินรูเปียห์-อินโดนีเซีย 2%