ธปท. คาดธุรกิจใช้ “พักทรัพย์ พักหนี้” เฟสแรก 3-5 หมื่นล้าน

ธปท.มองโควิด-19 สร้างบาดแผลให้เศรษฐกิจไทย เร่งเติมสภาพคล่อง-เยียวยาต่อเนื่องผ่าน 2 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้ เน้นออกแบบยืดหยุ่น-ปิดแก็ปซอฟต์โลนเดิม คาดเฟสแรกธุรกิจหันใช้ Asset Warehousing 3-5 หมื่นล้านบาท ยันบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งกระทบตลาดการเงินไทยจำกัด ยันเอกชนระดมทุน-Rollover ได้ตามปกติ เผยมีใช้ตลาดต่างประเทศสัดส่วนแค่ 11% เหลือใช้กลไกธนาคารพาณิชย์

วันที่ 9 เม.ย. 2564 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มต่ำลงหลังเกิดวิกฤตแต่ละครั้ง โดยการระบาดโควิด-19 สร้างแผลเป็นในระบบเศรษฐกิจไทย (Scarring effects) และกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวถึง -13% และใช้ระยะเวลาการฟื้นตัว 2-3 ปี

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เกิดการระบาดรอบ 2 ได้มีมาตรการเติมสภาพคล่องและการเยียวยา แต่หลังโควิด-19 มาตรการฟื้นฟูมีความจำเป็นระยะต่อไป

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้ออกมาตรการ 2 มาตราการ คือ สินเชื่อฟื้นฟู และโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” หรือ Asset Warehousing มีเม็ดเงินรวมกว่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการที่มาช่วยปิดช่องว่าง (Gap) พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่มีปัญหาเรื่องการกระจายสภาพคล่องไปสู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยสินเชื่อฟื้นฟูออกแบบรองรับธุรกิจที่มีการฟื้นตัวช้า และมีความยืดหยุ่น และครอบคลุมทั้งสินเชื่อใหม่และเดิมด้วยต้นทุนการเงิน (Credit Cost) ที่ค่อนข้างต่ำ

ทั้งนี้ การกระจายวงเงินสินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้านบาท อาจจะไม่ได้ออกครั้งเดียว แต่จะเป็นเฟส ๆ คือ ช่วงแรกเน้นการค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น และเฟสต่อไปจะเป็นการใส่เม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ออกแบบเพื่อธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ช้าและใช้เวลานาน

ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาการใช้วงเงิน แต่เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเบิกใช้วงเงินระยะแรกอยู่ที่ 3-5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี มองว่านโยบายการเงินการคลังจำเป็นต้องมีต่อเนื่อง เพื่อเตรียมตัวปฏิรูปเศรษฐกิจหลังโควิด-19

“นโยบายการเงินสนับสนุนต้นทุนที่ต่ำ โดยที่ผ่านมาลดดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้งจนปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% การลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF การดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนผ่านการทำ FX Ecosystem และช่วยให้แบงก์สามารถรองรับช็อกและช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ได้ผ่านการผ่อนคลายเกณฑ์ต่าง ๆ

และล่าสุดผ่าน 2 มาตรการเพื่อกระจายสภาพคล่องให้ถูกจุด และนโยบายการคลัง จะต้องปฎิรูปเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์เลวร้ายเราก็มีความพร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินในการดูแล”

นายสักกะภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลกระทบการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ต่อระบบการเงินของไทย ประเมินว่า ผลกระทบค่อนข้างจำกัดและไม่ได้รุนแรง แม้มีการปรับขึ้นบ้างแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และหากดูการระดมทุนของภาคเอกชนยังทำงานได้ปกติ โดยมองว่าการระดมทุนในไตรมาสที่ 1-2 และการทดแทนพันธบัตรที่ครบกำหนด (Rollover) ยังทำงานได้ปกติเช่นกัน

และหากดูการระดมทุนที่พึงพิงต่างประเทศ พบว่ามีสัดส่วนเพียง 11% ของการระดมทุนภาคเอกชนไทยทั้งหมด เนื่องจากส่วนใหญ่ระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ทำให้ความผันผวนของตลาดการเงินโลกส่งผ่านมาตลาดการเงินไทยยังจำกัด

“กลไกของตลาดบอนด์ไทยยังคงทำงานปกติ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ส่งผ่านมาตลาดการเงินไทยไม่รุนแรง เพราะจะเห็นว่ากลไกและการเคลื่อนไหวของตลาดบอนด์เป็นแบบนี้มานานแล้ว หากดูบอนด์ยีลด์ 5 ปีขอไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5-0.6% ใกล้เคียงดอกเบี้นนโยบาย เทียบเกาหลี 2% มาเลเซีย 3% หรือ อินโดนีเซีย 6% แม้จะปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้กระทบต่อการ Rollover ที่ยังทำได้ปกติ

ดังนั้น ความจำเป็นตที่จะใช้เครื่องมือ Yield Curve Control ความจำเป็นค่อนข้างน้อย แต่เราก็มีการเตรียมการเครื่องมืออื่นๆ ไว้ เช่น มาตรการช่วยสร้างความมั่นใจตลาดบอนด์ก็ยังมีอยู่ไม่ได้หมดอายุ”