‘ฟินโบรคเกอร์’ กางแผนโต ขายประกันบนแพลตฟอร์ม

โบรกเกอร์ประกันน้องใหม่ “FIN Broker” ในเครือ “ฟิล์มโฟกัส” กางแผนรุกช่องทางขายออนไลน์-ตัวแทนอิสระ ตั้งเป้าหมายใหญ่ 3 ปี ปั้นเบี้ยประกันเข้าพอร์ต 1.5 พันล้านบาท ปีนี้หวังเพิ่มตัวแทนขายอีก 1 หมื่นราย พร้อมประกาศเล็งเข้าตลาดหุ้นปี’67

นายปัญญวัฒน์ โพธิ์ศรีทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟิน อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (FIN Broker) สตาร์ตอัพน้องใหม่ในเครือบริษัท ดีพลัส อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจฟิล์มกระจกกันรอยภายใต้แบรนด์ Focus เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัททำธุรกิจนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) ผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบธุรกิจ B2B โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีเบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 180 ล้านบาท มีสมาชิกตัวแทนขายอิสระกว่า 10,000 ราย

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายใหญ่ใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2566) คาดว่าจะมีเบี้ยประกันที่ 1,500 ล้านบาท มาจากพอร์ตประกันรถยนต์และประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ (น็อนมอเตอร์) สัดส่วนรวมกัน 65% ส่วนที่เหลือ 35% มาจากพอร์ตประกันชีวิต

โดยปีนี้คาดว่าจะมีเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 600-800 ล้านบาท จำนวนตัวแทนขายเพิ่มเป็น 20,000 ราย หลังจากช่วงต้นปี 2564 บริษัทได้เพิ่มเงินทุนอีก 100 ล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้ใช้เงินลงทุนระบบเทคโนโลยีไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มให้ครอบคลุมทุกโปรดักต์ประกัน จากเดิมที่ขายแค่สินค้าประกันรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมียอดขายประกันรถยนต์เข้ามาเฉลี่ย 50-60 ล้านบาทต่อเดือน คาดหวังว่าปลายปีน่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทต่อเดือน

นายปัญญวัฒน์กล่าวอีกว่า หลังสงกรานต์ไปแล้ว บริษัทมีแผนจะเปิดตัวประกันน็อนมอเตอร์ อาทิ ประกันสุขภาพ, ประกันการเดินทาง, ประกันอัคคีภัย, ประกันโควิด และช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 จะเปิดตัวสินค้าประกันชีวิตเพิ่มเติม ซึ่งได้ร่วมมือกับพันธมิตรบริษัทประกันกว่า 25 แห่ง

“ในระบบประกันวินาศภัยจะมีตัวแทนขายประกันมากกว่า 1.5 แสนราย คิดเป็นเบี้ยก้อนนี้ราว 5-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นวอลุ่มใหญ่ที่บริษัทจะสามารถขยายธุรกิจควบคู่กับการขายประกันบนออนไลน์ได้” นายปัญญวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ฟินโบรคเกอร์ เป็นตัวกลางเปรียบเทียบราคาสินค้าประกันบนแพลตฟอร์ม ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น โดยให้ตัวแทนขายซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว เข้ามาช็อปปิ้งเลือกสินค้า เพื่อนำเสนอต่อลูกค้าได้เอง โดยฟินแพลตฟอร์ม มีต้นทุนคงที่ ถูกกว่าการทำธุรกิจแบบเดิมถึง 30% ทำให้หักค่าคอมมิสชั่นและค่าการตลาดให้ตัวแทนได้ดีกว่ารายอื่น ๆ

ขณะที่กลยุทธ์การแข่งขันนั้น บริษัทจะไม่ได้เน้นการให้ส่วนลดมาก แต่จะท็อปอัพของพรีเมี่ยมให้ลูกค้า เช่น ซื้อประกันแถมฟิล์มโฟกัส เป็นต้น หรือสนับสนุนบริการเสริมลูกค้า เช่น การช่วยเหลือฉุกเฉิน, บริการรถใช้ระหว่างซ่อม เป็นต้น โดยปีนี้บริษัทวางงบประมาณด้านการตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ไว้ 10 ล้านบาท ผ่านการสร้างการสร้างภาพลักษณ์องค์กร (แบรนดิ้ง) ผ่านสื่อประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งเข้าถึงคนได้ราว 40-50% ส่วนที่เหลือจะทำแบรนดิ้งผ่านสื่อท้องถิ่น เนื่องจากตัวแทนนายหน้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงต้องปูพรมให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว

นายปัญญวัฒน์กล่าวอีกว่า คณะผู้บริหารฟินโบรคเกอร์ ยังมีความคาดหวังว่าประมาณปี 2567 จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งตอนนั้นคาดว่าจะมีเบี้ยประกันขั้นต่ำที่ 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 100 ล้านบาท มีกรรมการบริหารจากบริษัทแม่ (Focus) ถือหุ้นบริษัทจำนวน 3 ราย แบ่งสัดส่วนถือหุ้น 65%, 25% และ 15%