CIMBT จ่อทบทวนจีดีพีปีนี้เหลือโตต่ำ 2% ชี้ เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย

ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินผลกระทบโควิด-19 ระบาดระลอก 3 กระทบเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัว ส่งผลเกิดการถดถอยทางเทคนิค หรือ technical recession พร้อมหั่นจีดีพีปี 64 เหลือต่ำ 2% จากเดิมมองอยู่ที่ 2.6% เกาะติดมาตรการป้องกันโควิดกระทบค้าปลีก-ท่องเที่ยว ระบุเห็นข้าราชการ-มนุษย์เงินเดือนลดค่าใช้จ่าย

วันที่ 26 เมษายน 2564 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายวัน ประกอบกับแนวโน้มที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นสูงจากการเดินทางกลับมาทำงานหลังสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ จึงมีมาตรการรักษาระยะห่างที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดความเป็นไปได้ในการติดเชื้อ ซึ่งน่าจะช่วยให้สถานการณ์กลับมาช่วงก่อนการระบาดรอบ 3 นี้ได้ดีขึ้น คาดว่าจะเห็นการผ่อนคลายได้ในอีกหนึ่งถึงสองเดือน แต่ในภาวะผู้ติดเชื้อที่จะลดลง สภาพเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 2 ก็อาจไม่สดใสอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้า

ในมุมเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 หากการระบาดคลี่คลายลงในเดือนพฤษภาคมและสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน ผลกระทบทางการบริโภคในประเทศไม่น่ารุนแรงเท่าการล็อกดาวน์ปีก่อน แต่น่าจะรุนแรงกว่ารอบเดือนมกราคม ปัจจัยสนับสนุนมีเพียงมาตรการรัฐและการส่งออก เราประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาสหลังปรับฤดูกาลเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเกิดการถดถอยทางเทคนิค หรือ technical recession แม้เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวได้สูงเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนก็ตาม

โดยธนาคารกำลังปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่าอาจขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 2.6% ซึ่งจะขยายตัวต่ำกว่า 2% หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่ามาตรการป้องกันโควิดนี้จะ 1. ควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว 2. มีมาตรการชดเชยผู้ขาดรายได้ เช่นเพิ่มเงินโอน และต่ออายุมาตรการที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 3. มีมาตรการลดค่าครองชีพอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางระบบสาธารณะ 4. ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการเพิ่มเติมในการลดภาระดอกเบี้ย เช่น ลดค่าธรรมเนียม FIDF หรือลดดอกเบี้ยกนง.ในรอบการประชุมวันที่ 5 พฤษภาคม พร้อมเร่งอัดฉีดเงินกู้ให้ธุรกิจ อีกทั้งอาจเห็นการต่อมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งทางธนาคารน่าดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้าให้รวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการป้องกันโควิดนี้ มีได้หลายช่องทางดังนี้

1. การเดินทางท่องเที่ยวลดลง กระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและขนส่ง

2. รายได้กลุ่มอาชีพอิสระ ค้าขายลดลง เพราะคนออกนอกบ้านน้อยลง และระมัดระวังการใช้จ่าย กระทบร้านค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และค้าปลีกอื่นๆ

3. ความเชื่อมั่นการบริโภคลดลง กระทบสินค้าขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่
อย่างไรก็ดี บางกลุ่มธุรกิจอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่น

1. ร้านค้า/ส่งสินค้าออนไลน์

2. ร้านค้าขนาดเล็กที่รับบัตรสวัสดิการของรัฐหรือรับชำระผ่านระบบเงินโอนตามมาตรการรัฐ

3. ภาคการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เพราะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น ซึ่งรายได้พนักงานน่าจะทรงตัวตามชั่วโมงการทำงานหรืออาจไม่ลดลงมากนักหากมีการรักษาระยะห่างมากขึ้น

“โดยสรุป มาตรการป้องกันโควิดรอบนี้น่าจะกระทบการบริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคค้าปลีก และภาคท่องเที่ยว ขณะที่คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แม้กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มอาจไม่ได้รับผลกระทบแรงเท่ากลุ่มอื่น แต่เนื่องจากคนทำงานที่บ้านมากขึ้น คนเดินทางหรือออกนอกบ้านน้อยลง มีผลให้ยอดขายลดลงตามจำนวนคน กลุ่มที่รับเงินโอนตามมาตรการภาครัฐอาจกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่นเพราะคนเลือกใช้บริการเพื่อลดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มที่อาจไม่ได้รับผกระทบมากนักแต่ก็ยังกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจึงลดการใช้จ่าย เช่น ข้าราชการ มนุษย์เงินเดือน หรือกลุ่มแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อส่งออก”