คลัง เล็งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ หลังโควิดจบ

กุลยา ตันติเตมิท

คลัง เล็งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ เพื่อการกระตุ้นการบริโภค ไปสู่การลงทุน หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ 

วันที่ 18 เมษายน 2564 น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)​ เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ จะมีการปรับเม็ดเงินที่ใช้เพื่อการกระตุ้นการบริโภค ไปสู่การลงทุนมากขึ้น ตามนโยบายที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้มอบนโยบายเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนของไทยปรับตัวลดลง จากอดีตตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยเคยมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 35% – 40% ต่อดีจีพี แต่หลังจากนั้นการลงทุนก็ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะของเอกชนที่ไม่ถึง 25% ต่อจีดีพี

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ยังจำเป็นที่ต้องใส่เม็ดเงินเข้าไป คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะแพลตฟอร์มด้านการเงิน ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ พร้อมย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกลุ่มไหน สศค. จะดูว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังต้องสร้างความเข้มแข็งด้านอุปสงค์ภายในประเทศ ให้มีความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการส่งออก พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศสูง เมื่อเกิดวิกฤตจากต่างประเทศ ทำให้ไทยได้รับผลกระทบมาก ขณะเดียวกันในประเทศต้องกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคมากขึ้น

“ในช่วงโควิดระบาดในพื้นที่สีแดง คือ กทม. และจังหวัดโดยรอบรวม 5 จังหวัด พบว่าเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนจีดีพีมากกว่า 70% ของประเทศ จึงจำเป็นต้องกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น หวังว่าวิกฤตคลี่คลาย การแก้ปัญหาเฉพาะหมดลงแล้ว ในระยะปานกลางและระยะยาวจะมาเน้นเรื่องการลงทุนมากขึ้น เช่น การสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ”

นางสาวกุลยา กล่าวด้วยว่า จากวิกฤตโควิด ทำให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลของประชาชนในประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหลังสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ จะมีการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานกระทรวงอื่น เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้การเข้าไปดูแลกลุ่มผู้มีรานได้น้อยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในผู้มีรายได้น้อย 1 คน ได้รับความช่วยเหลือผ่านสวัสดิการของหน่วยงานต่างๆ แล้วมากน้อยแค่ไหน และยังต้องใส่ความช่วยเหลือด้านใดเพิ่มเติมหรือไม่ เป็นต้น