ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้มาตรการสำคัญที่สุดในวิกฤตครั้งนี้คือ “วัคซีน”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
REUTERS/Chalinee Thirasupa

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 ซ้ำเติมการฟื้นตัวเศรษฐกิจ มาตรการสำคัญที่สุดคือ “วัคซีน” ชี้มาตรการการเงินการคลังถือเป็นตัวรอง แจงหากไม่สามารถควบคุม “โรคระบาด” ได้ จะทำให้วนอยู่ใน “วงจรอุบาทว์”

วันที่ 23 เมษายน 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 นี้ ก็เป็นการซ้ำเติมภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ ธปท.มองว่าการฟื้นตัวจะต้องใช้เวลานาน และฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น โดยล่าสุด ธปท.ก็ได้ออก 2 มาตรการช่วยภาคธุรกิจ คือ มาตรการสินเชื้อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้ วงเงินความช่วยเหลือรวม 3.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวว่า มาตรการที่สำคัญที่สุดและของจริงของวิกฤตครั้งนี้ คือ “วัคซีน”  มาตรการอย่างอื่นคือ “ซื้อเวลา” ในแง่นโยบายที่จำเป็นต้องบอกว่าวัคซีนคือพระเอก ตัวอื่นเป็นตัวรองหมด รวมถึงนโยบายการเงิน การคลัง เพราะถ้ายังแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ ทุกอย่างก็จะวนลูปอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” กับการระบาดอีกรอบ เยียวยาอีกรอบ ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นหัวใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยการฉีดวัคซีนยังช้า และโอกาสการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ยังไม่ได้

“มาตรการระยะสั้นชัดเจนที่สุดคือเรื่องวัคซีน แต่ถามว่าเรื่องการเงินการคลังต้องมีมั้ย ต้องมีแน่นอน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ส่วนที่ว่า เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวว่า วิกฤตรอบนี้โดนจุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาท่องเที่ยวสูง และเมื่อโดนโควิด-19 เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนการเติบโตก็ดับ ถามว่าหลังจากนี้จะมีเครื่องยนต์อะไร ยังเห็นไม่ชัด เรามี Thailand 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมใหม่ แต่ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ตัวเลขจีดีพี และที่ ธปท.ห่วงที่สุดคือ “รายได้ประชาชนและการจ้างงาน”

“ปัญหาคือประชาชนรายได้ไม่พอ นักศึกษาจบใหม่จะให้ทำอะไร จากการจ้างงานในระยะข้างหน้าจะมาจากตรงไหน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่คืออะไร ยังไม่มีคำตอบชัดเจน”